วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ตลาดน้ำอัมพวา Amphawa Floating Market


ตลาดน้ำอัมพวา เป็นตลาดริมคลอง ในจังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งอยู่ใกล้กับวัดอัมพวันเจติยาราม หรือที่นักท่องเที่ยวส่วนมากเรียกว่า "ตลาดน้ำยามเย็นอัมพวา" เพราะเหตุที่ตลาดน้ำอัมพวาเริ่มตั้งตลาดในช่วงเวลาตั้งแต่ประมาณบ่ายสองโมงไปถึงช่วงค่ำประมาณ 20:00 น. ของวันศุกร์, เสาร์ ,อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์  ตลาดน้ำอัมพวานับว่าเป็นจุดที่ท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์อีกแห่งหนึ่ง ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจในการเที่ยวชมมาก
การเที่ยวชมตลาดน้ำอัมพวา สามารถเที่ยวชมได้ทั้งตอนเช้าและตอนเย็น โดยที่ตอนเช้านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมาเดินชมตลาดน้ำ ซื้อกับข้าวและของสดที่ตลาด หรือเพื่อตักบาตรทางน้ำ ซึ่งจะได้บรรยากาศไปอีกแบบ ที่แตกต่างกับตลาดน้ำอัมพวาในยามเย็น โดยตลาดน้ำอัมพวาในช่วงตอนเย็น ถึงช่วงค่ำเหมาะกับการจับจ่ายซื้อหาอาหารกับพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของทางเรือ ที่มีอาหารให้เลือกซื้อมากมาย เช่น ขนมไทยโบราณ อาหารทะเลเผา ก๋วยเตี๋ยวเรือ  ผัดไทย หอยทอด ผลไม้ ขนมใส่ไส้ ขนมกล้วย ขนมตาล และอื่นๆอีกมากมาย ให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อกลับบ้าน หรือซื้อมานั่งกินกันริมตลิ่งเลยก็ได้
นอกจากจะได้อิ่มหนำกับรสชาติอาหารแล้ว  ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจเช่น การนั่งเรือไปไหว้พระที่วัดริมแม่น้ำแม่กลอง  ชมบรรยากาศสองฟากฝั่งคลอง และอีกเมื่อมาถึงอัมพวาสิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ก็คือ การนั่งเรือไปดูหิ่งห้อยที่บินออกมาส่องแสงเรืองรองในยามค่ำคืน  โดยเช่าเหมาเรือไปเป็นคู่หนุ่มสาว  หรือจะเป็นหมู่คณะเลยก็ดี
สำหรับคอเพลงรุ่นเก่าจะพลาดไม่ได้เลยกับ บ้านครูเอื้อ สุนทรสนานที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชม ซึ่งจะมีของใช้ส่วนตัวของครูเอื้อให้เราได้ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก อีกทั้งยังสามารถซื้อหาแผ่นเพลงของครูเอื้อได้อีกด้วย
ถ้าใครยังติดใจบรรยากาศคึกคักกับตลาดริมน้ำ หรืออยากจะสัมผัสความเงียบสงบในแบบบ้านพักริมน้ำที่นี่ก็ยังมีที่พักแบบโฮมสเตย์ชื่อ บ้านฝนโฮมสเตย์อัมพวา ใครหากต้องการความสะดวกสบายก็นี่เลยเป็นโรงแรมระดับ4 ดาว บ้าน อัมพวา รีสอร์ท แอนด์ สปา สมุทรสงคราม ไว้รองรับสำหรับผู้มาเยือน และถ้ามีโอกาสได้พักสักหนึ่งคืน รับรองว่าจะต้องติดใจในความมีชีวิตที่อัมพวาแห่งนี้อย่างแน่นอน
การเดินทาง 
รถยนต์  ใช้ถนนพระราม 2 สายธนบุรี-ปากท่อ  (ทางหลวงหมายเลข 35) ถึง กม.ที่ 63 เข้าตัวเมืองสมุทรสงคราม ผ่านตัวเมือง จากนั้นเข้าทางหลวง 325  สมุทรสงคราม-บางแพ กิโลเมตรที่ 36-37  มาทางแยกซ้ายเข้าไปทางที่จะไปอุทยานฯ ร.2  ตลาดน้ำจะอยู่ใกล้กับอุทยานฯ ร.2
                รถโดยสารประจำทาง  นั่งรถโดยสารประจำทางสายกรุงเทพฯ-ดำเนินสะดวก มาลงที่ตลาดอัมพวา

วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา Tarutao National Park

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา Tarutao National Park
เกาะตะรุเตา จากเกาะที่คุมขังนักโทษการเมืองเมื่อหลายปีก่อน  วันนี้แม้จะเป็นเกาะท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกไปแล้ว  แต่ก็แปลกที่เกาะนี้ยังทำหน้าที่คุมขังอยู่เช่นเดิม  ใครมาเที่ยวเป็นต้องหลงรักจนเสมือนหัวใจถูกจองจำไว้บนเกาะแห่งนี้ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ในความใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวทั่วไป เนื่องจากเป็นจุดรวมของความงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ ทั้งบนเกาะ และในน้ำ มีป่าที่อุดมสมบูรณ์  เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด  ในน้ำก็งดงามด้วยกลุ่มปะการังหลากสี สวยสด จนเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่วโลก
อุทยานแห่งชาติตะรุเตา  เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย มีชื่อเสียงทางด้านประวัติศาสตร์ และความสวยงาม ตั้งอยู่ในทะเลอันดามันบริเวณช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดีย ประกาศจัดตั้งเมื่อปี 2517 มีหมู่เกาะในเขตความดูแลทั้งหมด  51 เกาะ  โดยมีเกาะขนาดใหญ่เพียง 7 เกาะ ได้แก่ เกาะตะรุเตา  เกาะอาดัง  เกาะราวี  เกาะอีเป๊ะ  เกาะกลาง  เกาะบาดวง  และเกาะบิสสี  ส่วนที่เหลือคือเกาะขนาดเล็กที่กระจัดกระจายอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะตะรุเตา   หากรวมพื้นที่ทั้งหมดจะมีประมาณ  1,490  ตารางกิโลเมตร  หรือประมาณ 391,250  ไร่ สำหรับเกาะตะรุเตา  นับเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด  และใกล้ฝั่งที่สุดของทะเลสตูล  ห่างจากท่าเรือปากบาราเพียง 22  กิโลเมตรเท่านั้น 
สถานที่ท่องเที่ยว เกาะตะรุเตา
อ่าวพันเตมะละกา
มีชายหาดยาวขาวสะอาด เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และศูนย์บริการนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนหนึ่งจัดเป็นนิทรรศการแสดงเรื่องของธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของเกาะตะรุเตา อ่าวพันเตมะละกายังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม และจากอ่าวพันเตมะละกา ยังสามารถเดินขึ้นไปยังจุดชมวิวผาโต๊ะบู ได้อีกด้วย
อ่าวจาก
 เป็นอ่าวเล็กๆติดต่อกับอ่าวพันเตมะละกา
อ่าวเมาะและ
มีหาดทรายขาวสะอาด และดงมะพร้าวสวยงาม
อ่าวสน
ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 8 กิโลเมตร เป็นอ่าวรูปโค้งที่มีหาดทรายสลับกับหาดหิน และเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเล
อ่าวตะโละอุดัง
อยู่ด้านทิศใต้ของเกาะตะรุเตา ห่างจากเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ประมาณ 8 กิโลเมตร อดีตเป็นที่กักขังนักโทษการเมือง กบฏบวรเดชและกบฏนายสิบ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ตต.2  (อ่าวตะโละอุดัง)  อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 23 กิโลเมตร มีกิจกรรมชมประวัติศาสตร์ และเดินป่าศึกษาธรรมชาติ
อ่าวตะโละวาว
อยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะตะรุเตา อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 12 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ ในระหว่างปี พ.ศ. 2480 – 2490 ใช้เป็นสถานที่ตั้งนิคมฝึกอาชีพหรือทัณฑ์สถาน
อ่าวกำนัน
อ่าวกำนันเป็นอ่าวเล็ก ๆ ใกล้ ๆ กันกับเกาะรองกอย เป็นจุดที่มีแนวปะการังแข็งสมบูรณ์ จึงมีสัตว์ทะเลขนาดเล็กต่าง ๆ อยู่มากมาย ทั้ง ลูกปลาชนิดต่าง ๆ ลูกหอยเม่น หนอนท่อ
น้ำตกลูดู
เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่มีความสวยงาม อยู่ห่างจากอ่าวสนประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งจาก บริเวณอ่าวสนมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติไปยังน้ำตกลูดู
ถ้ำจระเข้
เป็นถ้ำที่มีความลึกประมาณ 300 เมตร ภายในมีหินงอกหินย้อยสวยงามและมีลักษณะแตกต่างกันไป การเดินทางไปถ้ำจระเข้ต้องนั่งเรือหางยาวไปตามคลองพันเตมะละกา ซึ่งอุดมไปด้วย ป่าชายเลนที่มีไม้โกงกางจำนวนมากตลอดสองฝั่งคลองโดยใช้เวลาล่องเรือประมาณ 15 นาทีและใช้เวลา ชมถ้ำประมาณหนึ่งชั่วโมง ติดต่อได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของอุทยานฯ ผู้ที่จะเที่ยวชมภายในตัวถ้ำควรนำไฟฉายไปด้วย
จุดชมวิว ผาโต๊ะบู
สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 60 เมตร อยู่ด้านหลังที่ทำการอุทยานฯ เป็น จุดชมทิวทัศน์ของเกาะบริเวณชายหาด อ่าวพันเตมะละกา จะเห็นเกาะบุโหลน  เกาะกลาง  เกาะไข่  เกาะอาดัง เกาะราวี  หมู่เกาะเภตรา ใช้เวลาเดินขึ้นจุดชมวิวประมาณ 20 นาที
การเดินทาง
สามารถเดินทางไปยังท่าเรือปากบาราซึงห่างจาก จังหวัดสตูลประมาณ 60 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 406  ถึงบ้านฉลุง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 416 (สตูล-ละงู)  ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 4052 ซึ่งแยกจาก อ.ละงู   ตรงไปสู่ท่าเรือปากบารา
จาก อ.หาดใหญ่ สามารถเดินทางไปยังท่าเรือปากบารา    ซึ่งห่างจากท่าเรือปากบาราประมาณ 120  กิโลเมตร  ท่าเรือปากบารา-อุทยานแห่งชาติตะรุเตา
ท่าเรือปากบารา
เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ สาขาปากบารา ตั้งอยู่ที่ปากคลองละงู ต.ปากน้ำ อ.ละงู เป็นท่าเรือที่อยู่ใกล้อุทยานฯ มากที่สุด (ประมาณ 22 กม.) ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวตะรุเตาราวๆ เดือนพฤศจิกายน- เมษายน มีบริการเรือโดยสารสู่อุทยานแห่งชาติตะรุเตาทุกวัน
ที่พักอุทยานแห่งชาติตะรุเตา
ในเขตอุทยานฯ มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยวบนเกาะตะรุเตาและเกาะอาดัง ติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักได้ที่ ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ โทร. 5797223, 579-5734 หรือที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล 91110 โทร. (074) 781285 นอกจากนี้
บริษัทนำเที่ยวที่จัดไปเกาะตะรุเตา
1. ชมรมเรือทัวร์ปากบารา ท่าเรือปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู สตูล โทร. (074) 781532, 711982, (01) 957-3908
2. สยามครุยส์ (เรืออันดามันปริ๊นเซส) 33/10-11 ชัยยศอาเขต สุขุมวิท ซอย 11 กรุงเทพฯ 10110 โทร. 255-4563, 255-8950-7
3. ซีทรานทราเวล (เรือออกจากภูเก็ต) 599/1 ถนนริมทางรถไฟสายช่องนนทรี คลองเตย กรุงเทพฯ 10110 โทร. 240-2572-82

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สตูล Satun

สตูล Satun
สตูล นับเป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของทะเลอันดามันฝั่งตะวันตอของไทย  หากมองในแผนที่จะเห็นว่าสตูลนั้นมีอาณาเขตติดกับจังหวัดตรัง  สงขลา  และรัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย  หลังจากเที่ยวชมหมู่เกาะสวยๆ ในน่านน้ำทะเลสตูลกันแล้ว  หากคุณมีเวลาเหลือจากสตูล  ก็ยังสามารถจัดทริปทัวร์  เที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงได้อย่างไม่ยากด้วยอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ                           ติดต่อจังหวัดตรัง
ทิศตะวันออก                   ติดต่อจังหวัดสงขลา
ทิศตะวันตก                     ติดต่อทะเลอันดามัน
ทิศใต้                               ติดต่อ รัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย
ปัจจุบันสตูล มีพื้นที่ 2,478.997  ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,549,361  ไร่  สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปมีพื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีทิวเขาที่สำคัญ คือ ทิวเขาบรรทัด และทิวเขาสันกาลาคีรี ซึ่งเป็นทิวเขาที่แบ่งแยกพรหมแดนประเทศไทย และมาเลเซีย  มีที่ราบป่าเขาและห้วยน้ำลำธารทางด้านตะวันออกของพื้นที่ ส่วนทิศตะวันตกเป็นเป็นพื้นที่เลียบชายฝั่งอันดามันยาวประมาณ  144.8  ตารางกิโลเมตร  ทอดยาวลงใต้ติดกับประเทศมาเลเซีย  ส่วนเกาะแก่งต่างๆ  สตูลมีเกาะในทะเลอันดามันถึง  88 เกาะ  ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งเป็นหมู่เกาะงดงามที่โด่งดังระดับประเทศ เช่น เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง-ราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะหินงาม ฯลฯ รวมทั้งผืนป่าดิบ โถงถ้ำ และน้ำตกน้อยใหญ่ในเขตอุทยานแห่งชาติทะเลบัน ด้วยความหลากหลายเช่นนี้ สตูลจึงนับได้ว่าเป็นเพชรอีกเม็ดหนึ่งของภาคใต้ฝั่งอันดามัน อันเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยไม่เคยเสื่อมคลาย
สำหรับการจุดศูนย์กลางของการเที่ยวเกาะในทะเลสตูลนั้นอยู่ที่ท่าเรือปากบารา  ตลอดวันจะมีเรือโดยสารให้บริการไปยังเกาะตะรุเตา และเกาะหลีเป๊ะ  ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่  และด้วยระยะทางที่ไม่ไกล  หากมีเวลาเหลือก็ไม่ควรพลาดที่จะไปเที่ยวชม  ความงดงามของหมู่เกาะทะเลตรัง  สามารถจัดทริปเที่ยวแบบเช้าเย็นกลับได้อย่างสะดวกสบาย  หรือหากอยากเปลี่ยนบรรยากาศ  บนฝั่งสตูลก็มีโปรแกรมเที่ยวเมือง  ชมน้ำตก  ถ้ำ  มากมายให้เลือกเที่ยวชม
การเดินทาง
โดยรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านเข้าเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง จากพัทลุงไปอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 4  แล้วแยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 406  ถึงจังหวัดสตูล ระยะทาง 973  กิโลเมตร
โดยรถไฟ สามารถเดินทางไปกับขบวนรถกรุงเทพฯ-ยะลา, กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ หรือ กรุงเทพฯสุไหงโกลก ลงที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ จากนั้นต่อรถตู้โดยสารหรือรถโดยสารประจำทางเข้าจังหวัดสตูล ระยะทาง 98 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดที่ สถานีรถไฟหัวลำโพง โทร. 1690, 2-223 7010, 02-223 7020
ที่พักสตูล
โรงแรมพินนาเคิล วังใหม่ สตูล Pinnacle Wangmai Satun Hotel
43 ถ.สตูลธานี ต.พิมาน อ.เมือง, สตูล, ไทย 91000

ประเพณีผีตาโขน ประจำปี 2555 Phi Ta Khon Festival 2012


 ประเพณีผีตาโขน ประจำปี 2555 Phi Ta Khon Festival 2012
จังหวัดเลยจัดงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ประจำปี 2555 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 18 -24 มิถุนายน 2555  จัดยิ่งใหญ่ 7  วัน7  คืน ณ   สนามที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นมิติใหม่ของการจัดงาน อลังการ
ประเพณีแห่ผีตาโขนจัดเป็นส่วนหนึ่งในงานบุญประเพณีใหญ่หรือที่เรียกว่า "งานบุญหลวง" หรือ "บุญผะเหวด" ซึ่งตรงกับเดือน 7 มีขึ้นที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และจัดเป็นการละเล่นที่ถือเป็นประเพณีทุกปี เกี่ยวโยงกับ งานบุญพระเวสหรือเทศน์ มหาชาติ ประจำปีกับพระธาตุศรีสองรัก ปูชนียสถานสำคัญของชาวด่านซ้าย สำหรับในปีนี้ ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ประจำปี 2555 ขึ้นใน วันที่ 22-24 มิ.ย.2555 โดยขบวนแห่ผีตาโขน จะจัดขึ้นใน วันที่ 23 มิถุนายน 2555 บริเวณวัดโพนชัยและหน้าที่ ว่าการอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยงานบุญหลวง ประเพณผีตาโขนของอำเภอด่านซ้ายจังหวัดเลย เป็นประเพณีสำคัญ เพราะอยู่ใน สิบสองเดือนสี่งานบุญผะเหวด (พระเวส)แห่ผีตาโขนแม้จะมีเล่นในอีสานถิ่นอื่นบ้าง แต่ที่วัดโพนชัย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นที่รู้จักและ จะยังคงอยู่คู่กับ "พระธาตุศรีสองรัก" ตลอดไป
ต้นกำเนิดผีตาโขน
กล่าวกันว่า การแห่ผีตาโขนเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรีจะเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมือง บรรดา ผีป่าหลายตนและสัตว์นานาชนิดอาลัยรักจึงพาแห่แหนแฝงตัวแฝงตน มากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสอง พระองค์ กลับ เมือง "ผีตามคน" หรือ "ผีตาขน" จนกลายมาเป็น "ผีตาโขน" อย่างในปัจจุบัน
ชนิดของผีตาโขน
ผีตาโขน ในขบวนแห่จะแยกเป็น 2 ชนิดคือ ผีตาโขนใหญ่และผีตาโขนเล็ก
- ผีตาโขนใหญ่ ทำเป็นหุ่นรูปผีทำจากไม้ไผ่สานมีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาประมาณ 2 เท่าประดับตกแต่งรูปร่าง
                 - ผีตาโขนเล็ก ผีตาโขนเล็กเป็นการละเล่นของเด็ก ไม่ว่าเด็กเล็ก เด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ทั้งผู้หญิงชาย มีสิทธิ์ทำ และเข้าร่วมสนุกได้ทุกคน แต่ผู้หญิงไม่ค่อยเข้าร่วมเพราะเป็นการเล่นค่อนข้างผาดโผนและซุกซน
การแต่งกายผีตาโขน
ผู้เข้าร่วมในพิธีนี้จะแต่งกายคล้ายผีและปีศาจใส่หน้ากากขนาดใหญ่ ทำจากกาบมะพร้าวแกะสลักและสวมศีรษะ ด้วยการละเล่นผีตาโขน
เนื่องจากงานประเพณีผีตาโขนเป็นงานบุญใหญ่ซึ่งเรียกกันว่างานบุญหลวง จัดขึ้นที่วัดโพนชัย อ.ด่านซ้าย โดยมี การละเล่นผีตาโขน มีการเทศน์มหาชาติมีการทำบุญพระธาตุศรีสองรักและงานบุญต่างๆเข้ามาผสมอยู่รวมๆ กัน จึงมีการจัดงานกัน 3 วัน
สนใจเที่ยวชมสามารถติดต่อซื้อแพคเกจนำเที่ยวกับผู้ประกอบการได้
แหล่งที่มา http://www.shutterphoto.com
ติดต่อสอบถาม
 อำเภอด่านซ้าย โทร    042-891266     
เทศบาลตำบลด่านซ้าย โทร 042-891231      

วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วัดถ้ำเขาปรางค์ ลพบุรี


วัดถ้ำเขาปรางค์ ลพบุรี
วัดถ้ำเขาปรางค์  ตั้งอยู่ในตำบลนิคมลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ซึ่งเดิมเป็นวัดป่า  ได้มีการพัฒนาและสร้างเจดีย์  เพื่อเก็บพระบรมสาริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย รวมทั้งอัฐิบริขารของบูรพาจารย์สายกรรมฐาน จนถึงอัฐิธาตุของบูรพาจารย์ทั่วประเทศ และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระบรมศาสดาเอกของโลกบนยอดเจดีย์ องค์เจดีย์สวยเด่นเป็นสง่ามองเห็นได้แต่ไกล  นักท่องเที่ยวที่ขยันเดินขึ้นไปบนยอดเจดีย์  นอกจากจะได้กราบไหว้พระธาตุแล้ว  ทิวทัศน์ด้านบนเมื่อยามแดดร่มลมตกก็มองดูสวยงามคุ้มค่าจริงๆ กับการเหน็ดเหนื่อย  คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ก็จะกลายเป็นของคู่บ้านคู่เมืองของคนอำเภอชัยบาดาล จ. ลพบุรี ได้ภูมิใจกัน
ประวัติวัดถ้ำเขาปรางค์
เมื่อ พ.ศ.2516 มีพระภิกษุรูปหนึ่งเดินธุดงค์ผ่านมาทาง อ.ชัยบาดาล มาถึงที่ซึ่งเป็นป่ารกชัฏและไร่ข้าวโพดของชาวไร่ ในภูมิภาคแถบนี้ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า เขาล้อมฟาง ท่านได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นที่ สัปปายะ ถูกจริตของตน อากาศ อารมณ์ อาหาร เหมาะที่จะเป็นที่ปลีกวิเวกหาความสงบหลีกหนีจากความวุ่นวายภายนอก เพื่อความหลุดพ้นของตนตามที่ได้ตั้งใจไว้ จึงหยุดพักและตั้งสัจจาอธิษฐานในการสร้างวัด ณ ที่แห่งนี้ซึ่งยังเป็นป่า อุดมไปด้วยสัตว์ป่าอันตรายนานาชนิด ท่านจึงได้อาศัยจำวัดและปฏิบัติกิจของสงฆ์บนยอดเขาในเบื้องต้นเป็นเวลา 15 ปี เป็นที่ทุรกันดาน ขาดแคลนไปทุกอย่าง ขาดน้ำกิน น้ำใช้ โดยท่านใช้น้ำหนึ่งขันต่อหนึ่งวัน เป็นเช่นนี้นานนับ 15 ปีแต่ก็เป็นที่พอใจและภูมิใจของพระธุดงค์รูปนั้น ซึ่งภายหลังได้ทราบชื่อว่า พระสุวัฒน์ คัมภีรปัญโญ แห่งสำนักวัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ ศิษย์เอกของท่านพ่อลี หรือ พระเดชพระคุณท่าน เจ้าคุณพระสุทธิธรรมรังษีคัมภีย์ เมธาจารย์ ผู้จัดงานเฉลิมฉลอง 25 ศตวรรษหรือ งานกึ่งพุทธกาลของไทยและเป็นผู้นำกองทัพธรรมของพระอาจารย์มั่น ภูสิทัตโต ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  
ต่อมาในปี พ.ศ.2527 มีคณะศรัทธาได้ซื้อที่บริเวณเชิงเขาล้อมฟางถวายจำนวน 20 ไร่ และได้ขออนุญาตจัดสร้างวัดในปี พ.ศ.2531 หลวงพ่อสุวัฒน์ จึงได้ลงจากเขามาอยู่ในที่ดินที่สร้างวัด บริเวณเชิงเขาล้อมฟางอย่างถาวร และได้สร้างเสนาสนะกุฏิ โบสถ์ วิหาร และถาวรวัตถุต่าง ๆ และได้รับพระราชทานวิสูตคามสีมาเมื่อพ.ศ.2539 และในปี พ.ศ.2544 หลวงพ่อสุวัฒน์ ได้ดำริสร้างเจดีย์ นวโลกุตตระหรือเจดีย์ 9 ยอด งบประมาณ 15 ล้านบาท เพื่อรวบรวมอัฐบริขารของบูรพาจารย์สายกรรมฐานรวมถึงอัฐิธาตุของบูรพาจารย์ทั่วประเทศ และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระบรมศาสดาเอกของโลกบนยอดเจดีย์ และเป็นที่กราบไหว้แก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป ต่อมาในปี พ.ศ.2543 พระสุวัฒน์ คัมภีรปัญโญ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าพระราชทานสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตรที่ พระคัมภีร์ปัญญาคุณเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท  

วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

จังหวัดลพบุรี Lopburi

จังหวัดลพบุรี  Lopburi
ลพบุรี  ถือได้ว่าเป็นประตูสู่ภาคเหนือของประเทศไทยก็ว่าได้  ดูจากขบวนรถไฟ  เพราะหลังจากแยกเส้นทางออกจากรถไฟสายอีสานที่ชุมทางบ้านภาชี  จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว ก็จะพบจังหวัดลพบุรีก่อนจังหวัดอื่นๆ  และเป็นจุดสิ้นสุดทางคู่ กรุงเทพฯ ชุมทางบ้านภาชี ลพบุรี  เริ่มต้นทางเดี่ยวลพบุรี เชียงใหม่
ลพบุรี เป็นเมืองแห่งความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมที่ต่อเนื่องยาวนานกว่า 3,000 ปี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน มีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตั้งแต่สมัยทวาราวดี พุทธศตวรรษที่ 11-16  ลพบุรีอยู่ใต้อำนาจมอญและขอมจนกระทั่งในตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ 19 คนไทยจึงเริ่มมีอำนาจขึ้นในดินแดนแถบนี้ ในรัชสมัยของพระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ลพบุรีมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง กล่าวคือพระเจ้าอู่ทองได้โปรดให้พระราเมศวร ราชโอรสองค์ใหญ่เสด็จมาครองเมืองลพบุรี เมื่อ พ.ศ. 1893 พระราเมศวรโปรดให้สร้างป้อม ขุดคู และสร้างกำแพงเมืองอย่างมั่นคง เมื่อพระเจ้าอู่ทองสวรรคตใน พ.ศ. 1912 พระราเมศวร ต้องถวายราชบัลลังก์ให้แก่พระปิตุลาของพระองค์ ซึ่งได้ขึ้นครองราชย์พระนามว่า พระบรมราชาธิราชที่ 1 ส่วนพระราเมศวร  ครองเมืองลพบุรีสืบต่อไป จนถึง พ.ศ. 1931 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 สวรรคต พระราเมศวรจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่สอง
หลังจากนั้น มาเมืองลพบุรีได้ลดความสำคัญลงไป จนกระทั่งมาถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) ลพบุรีได้รับการทำนุบำรุงครั้งใหญ่ สืบเนื่องมาจากการคุกคามของชนชาติฮอลันดาที่ติดต่อค้าขายกับไทย ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยานั้นไม่สู้ปลอดภัยจากการปิดล้อมระดมยิงของข้าศึกหากเกิดสงคราม จึงได้สร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีที่สองขึ้น เพราะลพบุรีมีลักษณะทางยุทธศาสตร์เหมาะสม ในการสร้างลพบุรีขึ้นใหม่ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงได้รับความช่วยเหลือจากช่างชาวฝรั่งเศสและอิตาเลียน และได้สร้างพระราชวังและป้อมปราการเป็นแนวป้องกันอย่างแข็งแรง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ประทับอยู่ที่ลพบุรีเป็นส่วนใหญ่ และโปรดให้ทูตและชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าพระองค์ที่เมืองนี้หลายครั้ง
สิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ แล้ว ลพบุรีก็หมดความสำคัญลง สมเด็จพระเพทราชาได้ทรงย้ายหน่วยราชการทั้งหมดกลับกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลต่อๆ มา ก็ไม่ได้เสด็จมาประทับที่เมืองนี้อีก จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ใน พ.ศ. 2406 โปรดฯ ให้บูรณะเมืองลพบุรี ซ่อมกำแพง ป้อม และประตูพระราชวังที่ชำรุดทรุดโทรม และสร้างพระที่นั่งพิมานมงกุฎขึ้นในพระราชวังเป็นที่ประทับ และพระราชทานนามว่า พระนารายณ์ราชนิเวศน์ลพบุรีจึงแปรสภาพเป็นเมืองสำคัญอีกวาระหนึ่ง
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ลพบุรีได้รับการทำนุบำรุงอีกครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งได้สร้างเมืองลพบุรีใหม่อันเป็นเมืองทหารอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของทางรถไฟ มีอาณาเขตกว้างขวาง ส่วนเมืองเก่านั้นอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของทางรถไฟ เมืองลพบุรีจึงเป็นศูนย์กลางสำคัญทางยุทธศาสตร์เมืองหนึ่งในปัจจุบันนี้  ลพบุรีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 153 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 6,586.67 ตารางกิโลเมตร
จังหวัดลพบุรี  มีแหล่งท่องเที่ยว  ที่น่าสนใจอยู่มากมายอาทิ  งานประเพณี  เทศกาลกระท้อนหวานและของดีเมืองลพบุรี,  และทางวัฒนธรรมโบราณต่างๆ      
พระนารายณ์ราชนิเวศน์
เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประจำปี 2545 รางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม บริเวณพิพิธภัณฑ์ฯ เปิดให้เข้าชมในวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. ส่วนโบราณสถานพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เปิดให้เข้าชม วันจันทร์-อาทิตย์ เวลา 07.00-17.30 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3641 1458
พระปรางค์สามยอด
ตั้งอยู่บนเนินดินด้านตะวันตกของทางรถไฟ ใกล้กับศาลพระกาฬ มีลักษณะเป็นปรางค์เรียงต่อกัน 3 องค์ มีฉนวนทางเดินเชื่อมติดต่อกัน พระปรางค์สามยอดเป็นศิลปะเขมร ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 สร้างด้วยศิลาแลง และตกแต่งลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม เสาประดับกรอบประตูแกะสลักเป็นรูปฤาษีนั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งเป็นแบบเฉพาะของเสาประดับกรอบประตูศิลปะเขมร ปรางค์องค์กลางมีฐาน แต่เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและมีเพดานไม้เขียนลวดลายเป็นดอกจันสีแดงด้านหน้า ภายในวิหารประดิษฐานพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยาตอนต้น ปัจจุบันยังคงประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง
เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่เวลา 07.00-17.00 น. เว้นวันจันทร์-อังคาร ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 036-41 2510,  036-41 3779
เทวสถานปรางค์แขก
อยู่ใกล้กับนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นโบราณสถานที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของลพบุรี เป็นปรางค์ก่อด้วยอิฐมีสามองค์ แต่ไม่มีฉนวนเชื่อมต่อกันเหมือนปรางค์สามยอด นักโบราณคดีกำหนดว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 เพราะมีลักษณะคล้ายกับปรางค์ ศิลปะเขมรแบบพะโค (พ.ศ. 1425-1536) เป็นปรางค์แบบเก่า ซึ่งมีประตูทางเข้าแบบโค้งแหลม ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้สร้างวิหารขึ้นด้านหลัง และถังเก็บน้ำซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของปรางค์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างวิหารขึ้นด้านหน้า และถังเก็บน้ำประปาทางด้านทิศใต้ของเทวสถาน
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
 ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟลพบุรี สิ่งที่น่าสนใจ คือ ศาลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งเป็นที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเปลื้องเครื่องทรง ก่อนที่จะเข้าพิธีทางศาสนาในพระวิหารหรือพระอุโบสถ ปัจจุบันศาลาเปลื้องเครื่องคงเหลือเพียงเสาเอนอยู่เท่านั้น ส่วนอื่นปรักหักพังไปหมดแล้ว ถัดจากศาลาเปลื้องเครื่องเป็นวิหารหลวง ซึ่งสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นวิหารขนาดใหญ่ ประตูทำเป็นเหลี่ยมแบบไทย เปิดให้เข้าชมระหว่างเวลา 07.00-17.00 น. เว้นวันจันทร์-อังคาร อัตราเข้าชม คนไทย 10 บาท ต่างประเทศ 30 บาท เด็กไม่เสียค่าใช้จ่าย
พระที่นั่งไกรสรสีหราช (พระที่นั่งเย็นหรือตำหนักทะเลชุบศร)
ตั้งอยู่ที่ตำบลทะเลชุบศร ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 4 กิโลเมตร  เป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช องค์พระที่นั่งตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเลชุบศร ซึ่งในสมัยโบราณเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีเขื่อนหินถือปูนล้อมรอบ สมเด็จพระนารายณ์ฯโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อทรงสำราญพระราชอริยาบถ 
บ้านหลวงรับราชทูต หรือ บ้านหลวงวิชาเยนทร์
ตั้งอยู่บนถนนวิชาเยนทร์ ห่างจากปรางค์แขกประมาณ 300 เมตร ทางทิศเหนือของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ สำหรับเป็นที่รับรองราชทูตที่มาเฝ้าฯ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่เมืองลพบุรี คณะราชทูตจากประเทศฝรั่งเศสชุดแรกที่เข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2228 ได้พำนัก ณ ที่แห่งนี้ ต่อมา Constantine Phaulkon (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ซึ่งเป็นชาวกรีกได้เข้ามารับราชการได้รับความดี ความชอบ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นถึง เจ้าพระยาวิชาเยนทร์และได้พระราชทานที่พักอาศัยให้ทางทิศตะวันตกของบ้านหลวงรับราชทูต
นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ระหว่างเวลา 07.00-17.00 น. เว้นวันจันทร์-อังคาร อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3641 2510, 0 3641 3779
ศาลพระกาฬ
ตั้งอยู่ริมทางรถไฟด้านทิศตะวันออกของพระปรางค์สามยอด ตำบลท่าหิน เป็นเทวสถานเก่าของขอม สร้างด้วยศิลาแลงเรียงซ้อนกันเป็นฐานสูง จึงเรียกกันมาแต่ก่อนอีกชื่อหนึ่งว่า ศาลสูงที่ทับหลังซึ่งทำด้วยศิลาทรายสลักเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 วางอยู่ติดฝาผนังวิหารหลังเล็กชั้นบน ณ ที่นี้ได้พบหลักศิลาจารึกแปดเหลี่ยมจารึกอักษรมอญโบราณ ในบริเวณรอบศาลพระกาฬร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ จึงเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงลิงกว่า 300 ตัว ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของจังหวัดลพบุรี
สวนรุกขชาติน้ำตกวังก้านเหลือง
ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลท่าดินดำ น้ำตกวังก้านเหลืองนี้ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี เนื่องจากมีต้นน้ำเกิดจากตาน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก ห่างจากบริเวณน้ำตกประมาณ 1.5 กิโลเมตร
การเดินทาง
จากตัวเมืองลพบุรีไปน้ำตกวังก้านเหลืองใช้เส้นทางลพบุรี-โคกสำโรง (ทางหลวงหมายเลข 1) จากนั้นใช้เส้นทางโคกสำโรง-ชัยบาดาล (ทางหลวงหมายเลข 205 ) ถึงบริเวณที่บรรจบกับทางหลวงหมายเลข 21 แล้วต่อเข้าทางหลวงหมายเลข 2089 ไปอำเภอท่าหลวงประมาณ 12 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าตัวน้ำตกอีกประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตกวังก้านเหลืองซึ่งจะอยู่ทางขวามือ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3634 7105-6, 0 3634 7446
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
ตั้งอยู่ที่บ้านแก่งเสือเต้น ตำบลหนองบัว เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้กับเขื่อนแห่งนี้ สร้างภายใต้โครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำป่าสัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2542 เป็นเขื่อนแกนดินเหนียวที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาว 4,860 เมตร ความสูงที่จุดสูงสุด 36.50 เมตร จุดเด่นที่น่าสนใจภายในเขื่อน ได้แก่ จุดชมวิวสันเขื่อนพิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งแสดงความรู้ด้านธรรมชาติ และวัฒนธรรม ร้านจำหน่ายของที่ระลึกของชาวบ้าน เช่น ผลิตภัณฑ์จากเมล็ดทานตะวัน น้ำผึ้ง ไข่เค็มดินสอพองในวันหยุดมีรถรางวิ่งพาชมทัศนียภาพบริเวณเขื่อนสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทร.036-494031-4 ทุ่งทานตะวัน
จังหวัดลพบุรี มีการปลูกทานตะวันมากที่สุดในประเทศไทย คือ ประมาณ 200,000300,000 ไร่ ดอกทานตะวันจะบานสะพรั่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน มกราคม ทานตะวันเป็นพืชทนแล้ง เกษตรกรนิยมปลูกแทนข้าวโพด เมล็ดทานตะวันมีคุณค่าทางโภชนาการ นิยมใช้สกัดทำน้ำมันปรุงอาหาร หรืออบแห้ง เพื่อรับประทาน หรือใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง และยังสามารถเลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพส่งเสริมได้อีกด้วย จึงทำให้ได้ผลผลิต คือ น้ำผึ้งจากดอกทานตะวันอีกทางหนึ่ง โดยแหล่งที่ปลูกทานตะวัน จะกระจายอยู่ทั่วไปในเขตอำเภอเมือง อำเภอพัฒนานิคม อำเภอชัยบาดาล พื้นที่ที่ปลูกเป็นจำนวนมาก ได้แก่ บริเวณเขาจีนแล ใกล้วัดเวฬุวัน ตำบลโคกตูม อำเภอเมือง
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา
ตั้งอยู่ที่บ้านลังกาเชื่อม ตำบลสำสนธิ ตำบลกุดตาเพชร มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 96,875 ไร่ เป็นที่ราบอยู่ในหุบเขา ถูกกั้นด้วยเทือกเขาพังเพย ทิศตะวันตกเป็นเขารวก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 140-846 เมตร ความสำคัญของพื้นที่ คือ ป่าซับลังกามีสภาพสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำลำสนธิ และแหล่งอาหารของสัตว์ป่า ปัจจุบันยังมีเลียงผา ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนอาศัยอยู่
พิพิธภัณฑ์เปิดบ้านโป่งมะนาว
อยู่ที่หมู่ 7 ตำบลห้วยขุนราม อยู่ห่างจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 26.5 กิโลเมตร เป็นแหล่งโบราณคดีมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 2,500-3,000 ปี ประมาณยุค บ้านเชียงตอนปลายมีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณถึง 13 โครงกระดูกภายในหลุมเดียวกัน นอกจากนี้ชมรมอนุรักษ์แหล่งโบราณคดี และทรัพยากรธรรมชาติบ้านโป่งมะนาว ยังได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 6 ประจำปี 2549
อ่างซับเหล็ก
อยู่ในเขตตำบลนิคมสร้างตนเอง ห่างจากศาลากลางจังหวัดลพบุรีไปทางทิศตะวันออกประมาณ 16 กิโลเมตร อ่างซับเหล็กเป็นอ่างเก็บน้ำธรรมชาติที่มีมาแต่โบราณ ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงโปรดให้ช่างชาวฝรั่งเศสและชาวอิตาเลียน เป็นผู้วางท่อส่งน้ำจากอ่างซับเหล็ก นำมาใช้ในเขตพระราชฐาน
สวนสัตว์ลพบุรี
ตั้งอยู่หลัง โรงภาพยนตร์ทหารบกห่างจากวงเวียนสระแก้วไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1 กิโลเมตร สวนสัตว์แห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2483 สมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นได้มุ่งพัฒนาเมืองลพบุรีให้เป็นเมืองสำคัญ โดยได้ก่อสร้างสิ่งต่างๆ มากมายรวมทั้งสวนสัตว์แห่งนี้ด้วย ต่อมาเมื่อสิ้นยุคสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม สวนสัตว์ก็พลอยถูกทอดทิ้งและร้างไปในที่สุด
ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ศูนย์สงครามพิเศษ ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งชมรม สโมสร พ่อค้า ประชาชน ดำเนินการปรับปรุงบูรณะสวนสัตว์ขึ้นใหม่ ให้เป็นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจและเป็นแหล่งสำหรับศึกษาหาความรู้ ในเรื่องสัตว์และพืชนับเป็นสวนสัตว์ที่มีความสมบูรณ์พอสมควร แก่การบริการประชาชนในท้องถิ่น สวนสัตว์แห่งนี้เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00 น.-17.30 น. ค่าผ่านประตู ผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท รถยนต์ 10 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3641 3551
แหล่งที่มา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
โรงแรมป่าสัก ฮิลล์ ไซด์ รีสอร์ท  Pasak Hillside
สถานที่ตั้ง: 11 หมู่ 1 ต.ลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล ลพบุรี

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เทศกาลกระท้อนหวานและของดีเมืองลพบุรี ประจำปี 2555


เทศกาลกระท้อนหวานและของดีเมืองลพบุรี ประจำปี 2555
ช่วงเดือนมิถุนายน ของทุกปีนี้  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดลพบุรี ร่วมกับ อำเภอเมืองลพบุรี และองค์การบริหารส่วนตำบลตะลุงได้ กำหนดจัดงานเทศกาลกระท้อนหวานและของดีเมืองลพบุรี  ขึ้นระหว่างวันที่ 819 มิถุนายน 2555  ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองลพบุรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการเกษตร  ทำการประชาสัมพันธ์เพื่อร่วมกันสร้างกระแสและรณรงค์ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนรวมกับนักท่องเที่ยวทั่วไปได้ร่วมกันดูแลรักษาและให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรท่องเที่ยวเชิงเกษตรไว้อย่างยั่งยืนต่อไป
ลพบุรีมีพื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อการทำเกษตรกรรม  โดยเฉพาะการปลูกกระท้อน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ชาวบ้านสนใจ และนิยมปลูกกันจำนวนมาก ในเขตตำบลตะลุง ผลิตผลที่ออกมาในแต่ละปีมีคุณภาพ และรสชาตินุ่มหวาน เป็นที่นิยมของตลาด ถึงแม้จะประสบอุทกภัยในปีที่ผ่านมา และเป็นหนึ่งผลิตผลทางการเกษตร ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดลพบุรี
นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถเที่ยวชมและขอพรจากเจ้าพ่อพระกาฬ และชมความน่ารักของฝูงลิง เรียนรู้ศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ซึ่งได้รวบรวมโบราณวัตถุศิลปะหลายยุคหลายสมัย จัดแสดงให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า
ท่านที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลพบุรี
บริเวณศาลากลางจังหวัดลพบุรี ถ.นารายณ์มหาราช อ.เมือง จ.ลพบุรี 15000
โทร. 036 770096 7 ได้ทุกวันในเวลาราชการ
 หรือ www.tat7.com
ลพบุรี อินน์ รีสอร์ท Lopburi Inn Resort
28/9 ถ.นารายณ์มหาราช ต.ทะเลชุบศร, เมือง, ลพบุรี, ไทย 15000

วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา Ayutthaya Historical Park.


อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา Ayutthaya Historical Park.
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้จดทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโกภายใต้ชื่อ "นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร" ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 15 เมื่อปี พ.ศ. 2534  จาก ยูเนสโก (UNESCO) เป็นมรดกโลกที่เป็นแหล่งรวบรวมศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ชาติไทยที่มีมานานกว่า  417 ปี   มีโบราณสถานที่เก่าแก่ทรงคุณค่า  และแสดงถึงความรุ่งเรืองของบรรพบุรุษไทยสมัยก่อนอยู่มากมาย  จนในปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา  ได้ถูกบูรณะปรับปรุงโครงสร้างให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้  และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ให้กับคนรุ่นใหม่
ภายในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์  มีโบราณสถานตั้งอยู่เป็นจำนวนมากกว่า  200  แห่ง  ทั้งพระราชวังโบราณหรือพระราชวังหลวง  ที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอู่ทอง  ปัจจุบันตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์  วิหารพระมงคลบพิตรเป็นสถานที่ตั้งพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  วัดพนัญเชิง  มีพระพุทธรูปนาม  พระพุทธไตรรัตนนายก   เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่มีอายุมากและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  นอกจากนี้ วัดเจ้าพญาไทหรือวัดใหญ่ไชยมงคล  วัดไชยวัฒนาราม  วัดพระราม  วัดมหาธาตุ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย 

วัดภายในอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา
วัดมเหยงคณ์

วัดท่าการ้อง เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ท่ามกลางชุมชนอิสลาม 2 หมู่บ้านคือ บ้านท่ากับบ้านการ้อง อันเป็นวัดพุทธศาสนาที่อยู่ท่ามกลางชุมชนมุสสิม
วัดท่าการ้องตั้งอยู่ที่บ้านท่า เป็นวัดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมแวะมาสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ นามว่า "พระพุทธรัตนมงคล" หรือที่เรียกกันว่า "หลวงพ่อยิ้ม" สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ขณะที่บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองและสงบสุข ดังจะเห็นได้จากพระพุทธลักษณะที่งดงามและพระพักตร์ที่มีความเมตตาอ่านต่อ
วัดสะตือ
วัดพิชัยสงคราม
วัดหน้าพระเมรุ
วัดแม่นางปลื้ม
วัดพนัญเชิงวรวิหาร
วัดกล้วย
วัดกษัตราธิราชวรวิหาร
วัดวรเชษฐาราม
วัดเชิงท่า
วัดสุทธาวาส วิปัสสนา
วัดช้างใหญ่
วัดบางนมโค
วัดธรรมาราม
วัดพรานนก
วัดนิเวศธรรมประวัติ
วัดลาดระโหง (ศูนย์วิปัสสนาภาษาอังกฤษ)
        วัดไชยวัฒนาราม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตกของเกาะเมืองอยู่ตรงข้ามกับพระตำหนักสิริยาลัย ของสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ตามประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า  สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้สร้างวัดไชยวัฒนารามขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2173  เพื่อเป็นอนุสรณ์อุทิศพระราชกุศล ถวายพระราชมารดา มีนามว่า “ นางอิน”  โดยจำลองแบบปราสาทนครวัด  ประเทศกัมพูชามาก่อสร้าง เมื่อครั้งที่เคยรบชนะกัมพูชาอ่านเพิ่มเติม
วัดใหญ่ชัยมงคล
            วัดใหญ่ชัยมงคลมีประวัติที่ยาวนานมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง ทรงสร้างขึ้นในปี 1900  เพื่อถวายแด่พระสงฆ์ “คณะป่าแก้วที่ได้ไปบวชเรียนมาจากสำนักสมเด็จพระวันรัตมหาเถระ ในลังกาทวีปและถวายนามว่า วัดป่าแก้ว พระสงฆ์ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญภาวนาเป็นสำคัญ พระเจ้าอู่ทอง จึงแต่งตั้ง สมเด็จพระวันรัต เป็นสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายขวา คู่กับ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายซ้าย วัดป่าแก้วแห่งนี้ จึงได้ชื่อว่า วัดเจ้าพญาไท ซึ่งหมายถึงวัดพระสังฆราช  แต่ด้วยวัดนี้เป็นพระอารามหลวง มีบริเวณกว้างขวาง และมีสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตรวมทั้ง พระเจดีย์ชัยมงคล เจดีย์องค์ใหญ่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างขึ้น  ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดใหญ่ชัยมงคล มาจนทุกวันนี้ อ่านเพิ่มเติม
วัดพระศรีสรรเพชญ์
วัดตูม
วัดเสนาสนาราม
วัดราชประดิษฐาน
วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร
วัดพุทไธศวรรย์
วัดกุฎีดาว
วัดสมณโกฏฐาราม
วัดชุมพลนิกายาราม
วัดธรรมิกราช
วัดบรมวงศ์อิศรวราราม
วัดมหาธาตุ
        วัดมหาธาตุ พระนครศรีอยุธยา  เป็นหนึ่งในวัดที่อยู่ในเขต อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ริมบึงพระรามด้านตะวันออก  หรืออยู่ใกล้กับวัดราชบูรณะ  เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้นเป็นพระอารามหลวง  เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ที่แสดงความชอบธรรมทั้งทางโลก (ราชอาณาจักร)และทางธรรม ( ศาสนาจักร)   ตามธรรมเนียมของการสร้างวัดมหาธาตุที่เริ่มขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราชก่อน แล้วเป็นตัวอย่างแก่อาณาจักรอื่นต่อมา เช่น เชียงใหม่  หริภุญชัย  ลำปาง  ศรีสัชนาลัย  พิษณุโลก  ละโว้  นครพนม  สุพรรณบุรี  นครปฐม  เพชรบุรี  และไชยา อ่านเพิ่มเติม
วัดภูเขาทอง
วัดราชบูรณะ
วัดช้างใหญ่
วัดตาลเอน
วัดไก่
วัดบรมพุทธาราม
วัดพระราม
วัดโลกยสุธา

นอกจากนี้ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ยังมีวังช้างอยุธยา แล เพนียด ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2540 โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมศิลปากร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เดิมได้ตั้งชื่อว่า ปางช้างอยุธยา แล เพนียด และได้เปลี่ยนชื่อ ใหม่เป็น วังช้างอยุธยา แล เพนียด เพื่อเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของและสถานที่ ที่อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และเป็นพื้นที่มรดกโลก
กิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมคือ
-          การได้ซื้ออาหารให้ช้าง  ให้นมช้างให้ขนมปัง
-          บันทึกภาพด้วยระบบดิจิตอล พร้อมอัดภาพให้พร้อม
-      นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการนั่งช้าง  เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการจะบันทึกภาพไว้  แล้วเข้าระบบคอมพิวเตอร์  เมื่อคุณกลับมาจากนั่งช้าง ก็จะได้ชมภาพบนจอภาพ  เมื่อมีความประสงค์จะอัดภาพ เป็นที่ระลึก  ก็เพียงสั่งภาพ  ภายใน 30 วินาที จะได้ภาพที่ประทับใจ 

การบริการ และการท่องเที่ยว
          จากกรุงเทพมหานคร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
          ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขาวเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ข้ามสะพานนนทบุรีไปจังหวัดปทุมธานี จากนั้นใช้เส้นทางปทุมธานี สามโคก เสนา ทางหลวงหมายเลข 311 เลี้ยวขวาที่อำเภอ เสนา ทางหลวงหมายเลข 3263  เข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
          ใช้เส้นทาง กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยกสะพานปทุมธานี เลี้ยวเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 3309 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทางรถไฟ
ใช้ขบวนที่เดินทางสู่ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเขตอำเภอบางปะอิน อำเภอ พระนครศรีอยุธยา และอำเภอภาชี
ทางเรือ
ปัจจุบันการเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยทางน้ำ เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมาก เพราะนอกจากจะได้ชมทัศนียภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังเป็นการย้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และมีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติโดยทางเรือบนแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้
บริษัทเรือนำเที่ยวไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
          - บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด โทร.  02- 222-5330 , 02 -225-3002-3     
          - เรือโอเรียนเต็ลควีน โทร. 02 -236-0400-9     
          - เรือริเวอร์ซันครุ้ยส์ โทร. 02-266-9125-6     
          - เรือฮอไรซันครุ้ยส์ โทร.  02 -236-7777       ต่อ 1204-5
          - บริษัท เรือเบญจรงค์ จำกัด โทร. 02-35 211036
          การเที่ยวชมอุทยาน เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.0018.00 น.
ที่พักในอยุธยา
27/2 ม.11 ถ.โรจนา ต.กะมัง จ.พระนครศรีอยุธยา , ริมแม่น้ำอยุธยา, อยุธยา, ไทย

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อนุสาวรีย์สุนทรภู่ Soonthornphu Monument


อนุสาวรีย์สุนทรภู่  Soonthornphu Monument
อนุสาวรีย์สุนทรภู่  อยู่เลยแหลมแม่พิมพ์ทางไป อ.แกลง ประมาณ 5  กิโลเมตร บนเส้นทางแกลง แหลมแม่พิมพ์ เป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างเพื่อเป็นที่ระลึกถึงสุนทรภู่  กวีเอกในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  บริเวณอนุสาวรีย์นั้นจะมีรูปปั้นของตัวละครเอกในเรื่อง พระอภัยมณี  อนุสาวรีย์สุนทรภู่เปิดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 และในวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี จะมีการจัดงานวันสุนทรภู่ โดยมีพิธีสักการะอนุสาวรีย์การแสดงนิทรรศการต่างๆ เกี่ยวกับสุนทรภู่และวรรณคดีที่สร้างชื่อเสียง นอกจากนี้บริเวณรอบยังมีสวนสาธารณะและร้านค้าขายอาหารของกินของฝากหลายร้าน  บรรยากาศร่มรื่นชวนน่าพักผ่อน
ประวัติกวีเอกสุนทรภู่
พระสุนทรโวหาร นามเดิม ภู่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สุนทรภู่ (26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 - พ.ศ. 2398) เป็นกวีชาวไทยที่มีชื่อเสียง ได้รับยกย่องเป็น เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย เกิดหลังจากตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 4 ปี และได้เข้ารับราชการเป็นกวีราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อสิ้นรัชกาลได้ออกบวชเป็นเวลาร่วม 20 ปี ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาลักษณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต
สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความชำนาญทางด้านกลอน ได้สร้างขนบการประพันธ์กลอนนิทานและกลอนนิราศขึ้นใหม่จนกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางสืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่มีมากมายหลายเรื่อง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ เพลงยาวถวายโอวาท กาพย์พระไชยสุริยา และ พระอภัยมณี เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่อง พระอภัยมณี ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน และเป็นผลงานที่แสดงถึงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่อย่างมากที่สุด งานประพันธ์หลายชิ้นของสุนทรภู่ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนนับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กาพย์พระไชยสุริยา นิราศพระบาท และอีกหลายๆเรื่อง
ปี พ.ศ. 2529 ในโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล สุนทรภู่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม ผลงานของสุนทรภู่ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่างๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ไว้ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง บ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และเป็นที่กำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์แห่งอื่นๆ อีก เช่น ที่วัดศรีสุดาราม ที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดนครปฐม วันเกิดของสุนทรภู่คือวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็น วันสุนทรภู่ ซึ่งเป็นวันสำคัญด้านวรรณกรรมของไทย มีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากองค์กรต่างๆ โดยทั่วไป
การเดินทาง
จากกรุงเทพฯ ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 34  (ถนนบางนา - ตราด) ก่อนถึงตัวเมืองชลบุรี ให้แยกซ้ายเข้าถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี  พอถึงแยกบ้านบึง ให้เลี้ยวซ้าย และไปตามเส้นทาง อ.แกลง  ทางหลวงหมายเลข 344 และให้ตรงไป  อ.แกลง ซึ่งจะผ่าน หนองใหญ่ - อ.วังจันทร์ - และสิ้นสุดที่อำเภอแกลง จากนั้นให้ขับไปประมาณ ครึ่งกิโลเมตร จะพบกับไฟแดงซึ่งตรงไปจะข้ามไปยังตลาดเมืองแกลง ให้ข้ามไปได้เลย จากนั้นวิ่งตรงไปประมาณ 800 เมตร จะพบป้ายไปยังแหลมแม่พิมพ์ ให้เลี้ยวขวาไปได้เลย ประมาณ 12  กิโลเมตร  ก็จะพบกับอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ซึ่งติดกับริมถนน