วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

ถนนทางขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์
         วันที่ 2 ของการท่องเที่ยวเมืองเหนือขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์  ถนนขึ้นยอดดอยอินทนนท์เป็นถนนลาดยางอย่างดี  แต่น่าเสียดายบังเอิญเป็นช่วงเทศกาลพอดี  ดังนั้นจึงมีแต่นักท่องเที่ยวหนาแน่นสังเกตุได้จากภาพ ที่การจราจรบนท้องถนนหนาแน่นไปด้วยรถยนต์นาๆชนิด  จากในภาพยังน้อยนะครับ ความเป็นจริงช่วงที่ผมเดินทางไปรถติดพอๆกับกรุงเทพเลยครับทุลักทุเลมาก อันตรายก็สูงลำพังรถติดทางราบยัง OK แต่นี่ทางไต่ระดับขึ้นสู่ยอดดอย ลองนึกภาพดูนะครับสุดแสนจะทรมานแค่ไหน รถบางคันสภาพไม่ดีจอดข้างทางหมด ทำให้ติดหนักเข้าไปอีกกว่าจะถึงยอดดอยได้ เล่นเอาใจหายใจคว่ำไปตามๆกัน ถ้าใครคิดจะขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์ ต้องตรวจสอบสภาพรถยนต์ให้ดีก่อน
          อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอดอยหล่อ อำเภอจอมทองและอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบไปด้วยภูเขาที่สูง สลับซับซ้อน  มีดอยอินทนนท์       ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทยในวันที 13 เดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2521 คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้ประกาศให้ดอยอินทนนท์เป็นอุทยานแห่งชาติ

          สภาพป่าเป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำหลายสาย และเป็นส่วนหนึ่งของต้นน้ำปิงที่ให้พลังงานไฟฟ้าที่เขื่อนภูมิพล มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกต่างๆ โดยเฉพาะน้ำตกแม่ยะ ที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดของประเทศ
           อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์     มีเนื้อที่ประมาณ 482.4ตารางกิโลเมตร หรือ 301,500 ไร่สภาพภูมิประเทศทั่วไปประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน มีดอยอินทนนท์เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด สูงจาก ระดับน้ำทะเล 2,565 เมตร ยอดเขาที่มีระดับสูงรองลงมาคือ ดอยหัวมดหลวง สูงจากระดับน้ำทะเล 2,330 เมตร ป่าอินทนนท์นี้เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำแม่กลาง แม่ป่าก่อ แม่ปอน แม่หอย แม่ยะ แม่แจ่ม แม่ขาน และเป็นส่วนหนึ่งของต้นน้ำแม่ปิงที่ให้พลังงานไฟฟ้าที่เขื่อนภูมิพล
               แต่เดิมดอยอินทนนท์มีชื่อว่า ดอยหลวงหรือ ดอยอ่างกาดอยหลวง หมายถึงภูเขาที่มีขนาดใหญ่ ส่วนที่เรียกว่าดอยอ่างกานั้น มีเรื่องเล่าว่า ห่างจากดอยอินทนนท์ไปทางทิศตะวันตก 300 เมตร มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งลักษณะเหมือนอ่างน้ำ แต่ก่อนนี้มีฝูงกาไปเล่นน้ำกันมากมาย จึงเรียกว่า อ่างกา ต่อมาจึงรวมเรียกว่า ดอยอ่างกา
     ดอยอินทนนท์นี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยซึ่งพาดผ่านจากประเทศเนปาล ภูฐาน พม่า และมาสิ้นสุดที่นี่   สิ่งที่น่าสนใจของดอยนี้ไม่เพียงแต่เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศ ด้วยความสูง 2,565 เมตร        จากระดับน้ำทะเลปานกลางเท่านั้น
           แต่สภาพภูมิประเทศและสภาพป่าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นป่าดงดิบ ป่าสน ป่าเบญจพรรณ และอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในฤดูหนาวจะมีหมอกปกคลุมเกือบทั้งวันและบางครั้งน้ำค้างยังกลายเป็นน้ำค้างแข็ง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้มีผู้มาเยือนที่นี่อย่างไม่ขาด
พืชพันธุ์และสัตว์ป่า
                   สังคมพืชในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์สามารถจำแนกออกเป็น ป่าเต็งรัง พบกระจายทั่วๆไปในพื้นที่รอบๆ อุทยานแห่งชาติในระดับความสูงจากน้ำทะเล 400-750 เมตร ตามเนินเขาหรือสันเขาที่แห้งแล้ง หรือตามด้านลาดทิศตะวันตกและทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติ ชนิดไม้ส่วนใหญ่ประกอบด้วย เต็ง รัง เหียง พลวง ก่อแพะ รกฟ้า รักใหญ่ ยอป่า มะขามป้อม ฯลฯ พืชอิงอาศัยพวกเอื้องแซะ เอื้องมะขาม เอื้องแปรงสีฟัน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีพวกมอส ไลเคน นมตำเลีย เกล็ดนาคราช ฯลฯ ส่วนพืชพื้นล่างจะเป็นไม้พุ่ม หญ้าชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญ้าคา ไม้เถา และพืชล้มลุกชนิดต่างๆ ป่าเบญจพรรณ พบกระจายอยู่ทั่วพื้นที่รอบๆ อุทยานแห่งชาติในชั้นระดับความสูง 400-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตามที่ลุ่มหรือตามแนวสองฝั่งของลำห้วย พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สัก ตะแบก ประดู่ แดง มะเกิ้ม สมอไทย กาสามปีก สลีนก กระบก ซ้อ นอกจากนี้ยังมีไผ่ชนิดต่างๆ พืชอิงอาศัย เช่น เอื้องช้างกระ เอื้องขี้หมา ส่วนพืชพื้นล่างส่วนใหญ่จะเป็นพวกไม้พุ่ม หญ้าคา หญ้าแฝก หญ้าชนิดอื่นๆ ไม้เถา และพืชล้มลุกชนิดต่างๆ
         ป่าดิบแล้ง พบกระจายเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อยในระดับความสูง 400-1,000 เมตร ตามบริเวณหุบเขา ริมลำห้วย และสบห้วยต่างๆ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยางปาย ยางแดง ยางนา ตะเคียนทอง ก่อเดือย ก่อหยุม ก่อลิ้ม ประดู่ส้ม มะไฟป่า ชมพู่น้ำ ไทรย้อย เดื่อหูกวาง พืชพื้นล่างเป็นพืชที่ชอบขึ้นในที่มีความชื้นสูง เช่น กล้วยป่า หญ้าสองปล้อง เหมือดปลาซิว ตองสาด กระชายป่า ข่าลิง ผักเป็ดไทย ออสมันด้า กูด เฟิน ปาล์ม หวายไส้ไก่ หมากป่า และเขือง เป็นต้น
                         ป่าดิบเขาตอนล่าง เป็นป่าที่พบในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,000-1,800 เมตร หรือในบริเวณตอนกลางของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกทำลายจากชาวเขาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ทำให้มีป่าที่มีอยู่เป็นป่าที่กำลังฟื้นสภาพ หรือป่ารุ่นใหม่ จะมีป่าดิบเขาดั่งเดิมเหลืออยู่บ้างเพียงเล็กน้อย สภาพโดยทั่วไปของป่าดิบเขาในพื้นที่ดอยอิทนนท์จึงมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับระบบและวิธีการฟื้นฟูของสังคมพืช ชนิดป่าที่พบที่สำคัญได้แก่ ป่าสนล้วน ป่าก่อผสมสน ป่าก่อ และป่าดิบเขาดั่งเดิม พันธุ์ไม้เด่นที่พบได้แก่ สนสามใบ สารภีดอย เหมือดคนตัวผู้ ก่อแป้น ก่อใบเลื่อม กอเตี้ย ก่อแดง ก่อตาหมูหลวง ก่อนก ทะโล้ จำปีป่า กำลังเสือโคร่ง กล้วยฤาษี นมวัวดอย ฯลฯ
          ป่าดิบเขาตอนบน ขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,800 เมตรขึ้นไป สามารถแบ่งออกได้เป็น ป่าดงดิบ-ป่าก่อชื้น ป่าดงดิบ เขตอบอุ่น และป่าพรุเขตอบอุ่น สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าที่มีต้นไม้สูงใหญ่ และหลายแห่งจะมีลักษณะของป่าดึกดำบรรพ์ พืชพื้นล่างจะไม่แน่นทึบ ทำให้ตามกิ่ง ยอด และลำต้นของไม้ในป่าจะมีมอส กล้วยไม้ เฟิน กุหลาบพันปี สำเภาแดง ขึ้นปกคลุม พันธุ์ไม้ในป่าดิบเขาหรือป่าก่อชื้นได้แก่ ก่อดาน ก่อแอบ จำปีหลวง แกง นางพญาเสือโคร่ง กะทัง นอกจากนี้ยังมีไม้พุ่มและไม้เกาะเกี่ยวเช่น คำขาว กุหลาบขาว คำแดง และยังมีต้นโพสามหาง กระโถนฤาษี เป็นต้น ในบริเวณแอ่งน้ำและรอบๆ ป่าพรุจะมีหญ้าชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่ เช่น บัวทอง พญาดง เทียน ผักหนอกดอย มะ แหลบ วาสุกรี บันดงเหลือง ต่างไก่ป่า กุง กูดขน ฯลฯ และบริเวณชายขอบป่าพรุจะมีกุหลาบพันปีสีแดง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบเฉพาะบนยอดดอยอินทนนท์เท่านั้น
           สัตว์ป่าในบริเวณอุทยานแห่งชาติที่นี้มีจำนวนลดลงไปมาก เนื่องจากถูกชาวเขาเผ่าต่างๆ ล่าเป็นอาหาร และป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยถูกถางลงมาก ทำให้สัตว์ใหญ่บางชนิดหมดไปจากป่านี้ สัตว์ที่เหลืออยู่ส่วนมากเป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กระรอก กระแตธรรมดา กระเล็นขนปลายหูสั้น อ้นเล็ก เม่นหางพวง อีเห็นข้างลาย ชะมดแผงสันหางดำ นกแซงแซวเล็กเหลือบ นกปรอดหัวสีเขม่า นกเด้าดินทุ่ง เหยี่ยว เพเรกริน ไก่ฟ้าหลังขาว นกเงือกคอแดง นกพญาไฟสีกุหลาบ กิ้งก่าหัวสีฟ้า จิ้งเหลนเรียวจุดดำ ตุ๊กแกบ้าน งูลายสอคอแดง กบห้วยสีข้างดำ เขียดหนอง อึ่งกราย คางคกเล็ก ปาดแคระฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ยังคงความสำคัญในด้านของการเป็นแหล่งของนกป่าที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นแหล่งของสัตว์ป่าที่หายาก และมีอยู่เฉพาะถิ่นอยู่หลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ หนูหญ้าดอย กระท่าง เต่าปูลู นกศิวะหางสีน้ำตาล นกปีกสั้นสีนำเงิน นกกระจิ๊ดคอสีเทา และนกกินปลีหางยาว
                 เมื่อขึ้นสู่ยอดดอยสัมผัสได้กับบรรยากาศที่แสนจะเยือกเย็น ก้อนเมฆที่เราเคยเห็นลอยอยู่บนท้องฟ้าทั่วๆ ไป ลอยเข้ามาปะทะตัวเราเลยทีเดียว  ทำให้หายเหนื่อยจากการขับรถขึ้นยอดดอยไปเลย  ที่จริงข้างบนสวยงามมากแต่ผมเหนื่อยล้าจากการขับรถ เลยไม่ได้เดินเที่ยวไปไหนมากนัก  เลยไม่ค่อยได้ภาพวิวที่สวยๆมาฝาก ส่วนมากแล้วนั่งพักใต้ต้นไม้มากกว่า เพราะแดดแรงมาก พอเข้าร่มใต้ต้นไม้อากาศที่หนาวเย็นจัดทนไม่ไหว  ต้องเดินออกมาผึ่งแดดต่อพอร้อนก็กลับเข้าไปใหม่


สถานที่ท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ 
          ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ หรืออีกชื่อว่า กม.31 ที่นี่มีเจ้าหน้าที่ไว้คอยบริการรับจองบ้านพัก และสถานที่กางเต้นท์ สำหรับบ้านพักและที่กางเต้นท์จะอยู่อีกบริเวณหนึ่ง ทางเข้าอยู่ทางด้านขวามือก่อนถึงที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 200 เมตร
น้ำตกแม่ยะ
 เป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและสวยที่สุดของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล ที่นี่สามารถกางเต้นท์พักแรมที่น้ำตกได้ โดยติดต่อขอสถานที่กางเต้นท์กับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ
น้ำตกแม่กลาง
 เป็นจุดแรกของประตูเข้าสู่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ น้ำตกจากหน้าผาสูงประมาณ 100 เมตร ไหลพวยพุ่งมาสู่โกรกเขา ซึ่งเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ มีชื่อว่า วังน้อยและวังหลวงใครไปเที่ยวช่วงฤดูฝนระวังหน่อยเพราะน้ำไหลแรง
ถ้ำบริจินดา
เป็นถ้ำขนาดใหญ่ อยู่ในเทือกเขาดอยอินทนนท์ ใกล้น้ำตกแม่กลาง ภายในถ้ำมีความลึกหลายกิโลเมตร เพดานมีหินงอกหินย้อยหรือที่ชาวเหนือเรียกว่า นมผา และมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายใน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้นมัสการ และยังมีธารหิน เมื่อมีแสงสว่างมากระทบจะเกิดประกายระยิบระยับดังกากเพชรสวยงามยิ่งนัก
น้ำตกวชิรธาร 
เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ตัวน้ำตกอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 750 เมตร ตรงข้ามมีหน้าผาสูงชัน เรียกว่า "ผาม่อนแก้ว" หรือในภายหลังเรียกว่า ผาแว่นแก้ว
น้ำตกสิริธาร 
นอกจากมีความสวยงาม ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลายชนิดรวมทั้งปลาหายาก เช่นปลาค้างคาว ป่าบริเวณนี้เป็นป่าเต็งรังผสมสนเขาและป่าดิบแล้ง นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งสมุนไพรที่สำคัญอีกด้วย
น้ำตกสิริภูมิและสวนหลวงสิริภูมิ 
เดิมเรียกว่า เลาลึ ตามชื่อของหมู่บ้านม้ง ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ ๆ น้ำตก ภายหลังเปลี่ยนชื่อตามพระนามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ปัจจุบัน มีการจัดภูมิทัศน์ สวนหลวงสิริภูมิ อยู่ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์ มีการจัดเก็บค่าเข้าชม
พระธาตุนภเมทนีดลและพระธาตุนภพลภูมิสิริ
เป็นพระธาตุที่ทางกองทัพอากาศร่วมกับพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ ร่วมใจสร้างถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา เมื่อปีพุทธศักราช 2530 และเทิดพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2535 โดยรอบบริเวณพระมหาธาตุเจดีย์ทั้ง 2 องค์ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของดอยอินทนนท์โดยรอบได้อย่างชัดเจน พระมหาธาตุทั้ง 2 องค์นี้ มีรูปทรงคล้ายคลึงกัน คือ มีฐานเป็นรูป 12 เหลี่ยม มีระเบียงแก้วโดยรอบเป็น 2 ระดับ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปบูชา
ยอดดอยอินทนนท์ 
ซึ่งน้อยคนนักจะได้สัมผัสธรรมชาติที่แท้จริงของภูเขาที่สูงที่สุดของประเทศ ที่นี่มีทั้งกล้วยไม้และพันธุ์ไม้ป่าที่สวยงามและหายาก นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานกู่พระอัฐิของพระเจ้าอินทวิชานนท์ ผู้ครองเชียงใหม่องค์ที่ 7 และเป็นที่ตั้งของสถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศไทย  ในฤดูหนาวที่ยอดดอยมีอุณหภูมิประมาณ 4 – 14 องศาเซลเซียส  

การเดินทาง
รถยนต์
           จากตัวเมืองเชียงใหม่ เดินทางโดยรถยนต์ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 (เชียงใหม่-ฮอด) ประมาณ 56 กม.ผ่านอำเภอหางดงและอำเภอสันปาตอง ไปยังอำเภอจอมทอง ก่อนถึงอำเภอจอมทองประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009 (จอมทอง-ดอยอินทนนท์) จะเริ่มเข้าเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ที่กิโลเมตรที่ 8 (น้ำตกแม่กลาง) และตัดขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์เป็นระยะทางทั้งหมด 48 กิโลเมตร ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 31


ที่พักในเชียงใหม่


ปริ๊นส์คุ้มพญา รีสอร์ทแอนด์สปา
         Khum Phaya Resort and Spa Centara Boutique Collection ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติเขตร้อนอันเขียวขจี ให้บริการห้องพักแบบไทย ๆ ที่สวยงาม ติดกับสระว่ายน้ำลากูนขนาดใหญ่ ภายในห้องพักพรั่งพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์จอแบน 32 นิ้ว บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย (Wi-Fi) ฟรี อ่างอาบน้ำแรงดันสูง เป็นต้น
       ที่พักแห่งนี้อยู่ไม่ไกลจากร้านค้าและร้านอาหารต่าง ๆ มีบริการรถรับส่งไปยังตัวเมืองเชียงใหม่และไนต์บาซาร์ โดยใช้เวลาเดินทางเพียง 10 นาที ส่วนสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ห่างจากที่พักโดยใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ 15 นาทีห้องพักที่ Khum Phaya Resort and Spa Centara Boutique Collection มีเตียงพร้อมหลังคาและมุ้งตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ไม้สักโบราณ ห้องพักเหล่านี้มีขนาดกว้างขวาง พร้อมด้วยวิวสระว่ายน้ำและสวนหย่อม อีกทั้งยังมีระเบียงส่วนตัวและพื้นที่ฝักบัวแยกเป็นสัดส่วน
            ณ ห้องอาหาร Kham Saen Restaurant มีบริการอาหารไทยและอาหารนานาชาติหลากหลายรายการตลอดทั้งวัน อีกทั้งมีบาร์ริมสระว่ายน้ำ ห้องอาหาร Northern Thai ซึ่งมีการแสดงแบบดั้งเดิมเพื่อความเพลิดเพลินของผู้เข้าพัก







อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 
สถานที่ติดต่อ : 119 หมู่7 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง เชียงใหม่ 50160
โทรศัพท์ :             053-286728 ,  053-286728 ,053-286729 , 053-286729      
โทรสาร :             053-286727 , 053-286727      

วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กิจกรรมวันแม่ 12 สิงหาคม 2554 ที่วัดหงษ์ทอง


       วันนี้ได้โอกาสดีบริษัทหยุดงานติดต่อกัน 3วัน คือ 12-14 เนื่องจากเป็นวันแม่แห่งชาติ เลยได้โอกาสพาครอบครัวไปทำบุญถวายสังฆทานที่วัดหงษ์ทอง ออกเดินทางช่วงเช้าอากาศเย็นสบายท้องฟ้าโปร่งปราศจากนกเตน  ขับรถไปเรื่อยๆไม่รีบ ไปถึงทางเข้าวัดหงษ์ทอง เวลาประมาณ 09:40 น. รู้สึกว่าวันนี้จะหนาแน่นไปด้วยรถยนต์เพราะรถติดมากเป็นแถวยาว กว่าจะถึงลานจอดรถใช้เวลานานโขอยู่ บริเวณฝั่งตรงข้ามลานจอดรถข้างถนนจะมีพ่อค้าแม่ค้าตั้งร้านขายของตลอดแนววันนี้คึกคักเป็นพิเศษทุกร้าน มีลูกค้าอุดหนุนอย่างหนาแน่น มีทุกอย่าง ข้าวเหนียวไก่ย่าง,ข้าวหลาม,ขนมขบเคี้ยว,สินค้า otop ฝั่งขวามือจะเป็นลานจอดรถ วันนี้ทางวัดได้จัดลานสำหรับจอดรถ 3 โซน  1.ลานจอดรถหนัก 2.ลานจอดรถเล็ก เก๋ง,ปิคอัพ 3.ลานจอดรถสำหรับร้านอาหารครัวทวี  
ร้านขายอาหารริมทางเข้าวัดหงษ์ทอง

ร้านขายกาแฟโบราณ ผมรอถ่ายตอนคนไปหมดแล้วไม่งั้นไม่เห็นร้านเลย
ใบประกาศของทางวัดหงษ์ทอง


เรามาดูกันว่าวันนี้ที่วัดหงษ์ทองมีกิจกรรมอะไรบ้าง
 ๐๖.๐๐น. ตักบาตรอาหารแห้ง
๐๘.๐๐น. รับสังฆทาน
๐๙.๐๐น. ชีพราหม์สวดมนต์
๑๑.๐๐น.  - พระสงฆ์เจริญพุทธมนต์ถวายเป็นพระราชกุศล
          - พระสงฆ์ ชี ผู้บวชเนกขัมมะและประชาชน เจริญจิตภาวนาถวาย เป็นพระราชกุศล
        - ฉันเพล
๑๒.๐๐น. รับสังฆทาน (ณ ศาลาหลวงพ่อโต )
๑๓.๐๐น. ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม โดยพระอาจารย์เกรียงศักดิ์ เจ้าคณะตำบลคลองด่าน
๑๗.๐๐น. สวดมนต์เย็น /เดินจงกลม
๑๙.๑๙น. จุดเทียนชัยถวายพระพร (ณ บริเวณหน้าศาลาปฏิบัติธรรม)
๒๐.๐๐น. เทศน์วันแม่
ประชาชนมาร่วมทำบุญถวายสังฆทาน  กันอย่างหนาแน่นโดยสับเปลี่ยนกันเข้าออกตลอดเวลา 
เป็นครอบครัวผมมีแม่ยาย,ลูกสไภ้,หลานสาวตัวเล็กชื่อ ใบไทร

อันนี้กำลังรับประทานข้าวเที่ยง
ไปวัดหงษ์ทองครั้งนี้ผมมีบุญมาฝากครับ 

จะเห็นว่าช่วงนี้ทางวัดหงษ์ทองกำลังก่อสร้าง ศาลาทานบารมี

ตามกำลังศรัทธานะครับ  ผมเองก็ช่วยเป็นสื่อสะพานบุญ ใครสนใจจะนำภาพไปเผยแพร่ ผมอนุโมทนาด้วยครับ
ภาพนี้ถ่ายจากเจดีย์วัดหงษ์ทองน้ำกำลังขึ้น

สาริกธาตุที่ พระธาตุคงคามหาเจดีย์ปรีชาประภากร ปราชญ์ ศรนิล อนุสรณ์ 
กรมหลวงชุมพร

รูปปั้นหลวงปู่สด ภายในพระธาตุคงคามหาเจดีย์




ภาพฝาผนัง ร.๕ ประกาศเลิกทาศ 
วิหารหลวงปู่ปาน ภายในวัดหงษ์ทอง

รูปหล่อหลวงปู่ปาน

พระแม่คงคา
       สุดท้ายผมขอฝากบอกบุญมายังท่านนักเขียนเว็บไซร์ทุกๆท่าน  ช่วยโปรโมทหรือเขียนแนะนำ  ซึ่งจะเป็นการเสริมบุญบารมี และที่สำคัญผมมองดูแล้วทางวัดยังต้องใช้ปัจจัยในการก่อสร้างจำนวนมหาศาล  เราชาวพุทธช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อให้เป็นอนุสรณ์ของคนรุ่นหลังสืบต่อไปขอบคุณครับ   











วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์


ตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์
          พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ตั้งอยู่บนดอยบวกห้า ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,373 เมตร มีเนื้อที่โดยรอบพระตำหนักประมาณ 400 ไร่ แบ่งเป็นบริเวณที่ เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมประมาณ 200 ไร่
พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์" ขึ้น ในปีพ.ศ. 2504 และพระราชทานนามตามที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครั้งเป็นที่ พระศาสนโสภณ เป็นผู้คิดชื่อถวาย โดยทรงเลือกจาก 1 ใน 2 ชื่อ คือ “พิงคัมพร” กับ “ภูพิงคราชนิเวศน์” การก่อสร้างพระตำหนักใช้เวลา 5 เดือน จึงแล้วเสร็จ การออกแบบเป็นแบบไทยประยุกต์ ดัดแปลงให้เหมาะสมกับการใช้แบบสากลมากขึ้น
        พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์  มีลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นไทยประเพณีประยุกต์ ยกพื้นสูง แบบเรือนไทยภาคกลางที่เรียกว่า เรือนหมู่ โดยชั้นบนเป็นที่ประทับ ชั้นล่างเป็นที่พักของข้าราชบริพารผู้ตามเสด็จพระราชดำเนิน ออกแบบแปลนโดยหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ออกแบบรูปด้านโดยหม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พลเอกหลวงกัมปนาทแสนยากร องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ในการวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2505 การก่อสร้างพระตำหนักใช้เวลา 5 เดือน ก็แล้วเสร็จ และได้ใช้รับรองพระราชอาคันตุกะเป็นครั้งแรกคือสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 9 และสมเด็จพระราชินีอินกริด แห่งเดนมาร์ก เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2505 ซึ่งปกติจะปิดในช่วงเวลาตั้งแต่ประมาณกลางเดือนธันวาคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์ สามารถเดินชมโดยรอบตำหนักและบริเวณซึ่งมีแปลงกุหลาบ สวนเฟิร์น และไม้นานาพรรณ โดยปกติแล้วจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมเฉพาะวันศุกร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ
บริเวณทางเดินชมสวนดอกไม้ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
อ่างเก็บน้ำในพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์







ท่องเที่ยวเชียงใหม่


เชียงใหม่
                  ถือได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีมนต์ขลัง      ที่ใครได้ไปแล้วก็อยากไปอีก      ผมเองก็เคยไปมา 3 ครั้ง ช่วงเวลาที่เหมาะสมมากที่สุดควรจะเป็นฤดูหนาว ครั้งนี้ไปช่วงปีใหม่  เพราะตั้งใจจะไปชมทิวทัศน์ที่สวยงามตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นจับขั้วหัวใจ  (ต้นปี 2554) เลยมาเล่าสู่กันฟัง  เพราะก่อนหน้านี้ไม่ได้คิดที่จะเขียนเว็บกับเขา  ความจริงประเทศไทยผมท่องเที่ยวมาเกือบทุกจังหวัด เหนือ อีสาน ใต้ แต่ไม่เคยบันทึกหรือถ่ายทอดให้ใครรับรู้  จนผมเองก็จำไม่ค่อยได้  เดี๋ยวรอเข้าหน้าหนาวครับผมมีทริป ท่องเที่ยวสวนผึ้งราชบุรีคงมีอะไรดีๆมาฝาก
         การเดินทางของผมนั้นโดยรถยนต์ส่วนตัว IZUSU  4 ประตู ข้างหลังติดแครี่บอย  สัมภาระเต็มหลังคา ไปกันทั้งครอบครัว  ออกเดินทางจากตำหนักพระแม่กวนอิมที่โชคชัย4  เวลา เที่ยงคืน  โดยใช้เส้นทางสาย 32 อยุธยา นครสวรรค์  เรื่อยไป  ด้วยความเร็ว  130 -140 กิโลเมตร/ชั่วโมง  ไปถึงเชียงใหม่ประมาณเกือบเที่ยงวันของวันรุ่งขึ้น  ในขณะเดินทางถ้าเมื่อยล้าก็จอดรถตามปั๊มน้ำมันเพื่อคลายกล้ามเนื้อบ้าง  เพราะขับคนเดียวไม่มีคนคอยเปลี่ยนมือ และเข้าพักที่ตำหนักพระแม่กวนอิมสาขาเชียงใหม่ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากพระแม่ที่ตำหนักโชคชัย 4 ซึ่งอยู่ในตัวจังหวัด ไม่ได้เช่าโรงแรมประหยัดเงินไปอีกเปราะหนึ่ง พอตกตอนเย็นก็ไปเดิน ไนท์บาร์ซ่า  หรือตลาดนัดตอนกลางคืน  จะเป็นสินค้าออกทางพื้นเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่  เป็นแหล่งที่สร้างความคึกคัก และเป็นแหล่งที่สร้างรายได้ให้กับพ่อค้าแม่ค้าได้ดีทีเดียว  เพราะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาใช้บริการอย่างหนาแน่น  ก็เดินชมอยู่พักหนึ่งและทานข้าวเสร็จก็กลับที่พัก เพื่อเตรียมตัวออกทิฟในวันรุ่งขึ้น
เช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากจัดการกับอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว ได้ขับรถคู่ชีพจากตัวจังหวัดมุ่งหน้าไปวัดพระธาตุดอยสุเทพ  ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 6 กิโลเมตร และขับขึ้นสู่ยอดดอยอีกประมาณ 16 กิโลเมตร ทางคดเคี้ยวไปตามเขาต้องขับรถด้วยความระมัดระวัง  เพราะบางช่วงจะมีหมอกหนาปกคลุม    เมื่อไปถึงวัดจะมีลานจอดรถไว้บริการสะดวกดีครับ แต่เสียตังค์
วัดพระธาตุดอยสุเทพ
พระเจดีย์

            วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1929 ในสมัยพญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งอาณาจักรล้านนาราชวงศ์เม็งราย พระองค์ทรงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุองค์ใหญ่ ที่ได้ทรงเก็บไว้สักการะบูชาส่วนพระองค์ถึง 13 ปี มาบรรจุไว้ที่นี่ ด้วยการทรงอธิษฐานเสี่ยงช้างมงคลเพื่อเสี่ยงทายสถานที่ประดิษฐาน พอช้างมงคลเดินมาถึงยอดดอยสุเทพ มันก็ร้องสามครั้ง พร้อมกับทำทักษิณาวัตรสามรอบ แล้วล้มลง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้ขุดดินลึก 8 ศอก กว้าง 6 วา 3 ศอก หาแท่นหินใหญ่ 6 แท่น มาวางเป็นรูปหีบใหญ่ในหลุม แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงประดิษฐานไว้ จากนั้นถมด้วยหิน แล้วก่อพระเจดีย์สูง 5 วา ครอบบนนั้น ด้วยเหตุนี้จึงห้ามพุทธศาสนิกชนที่ไปนมัสการสวมรองเท้าใน บริเวณพระธาตุ และมิให้สตรีเข้าไปบริเวณนั้น ในปี พ.ศ. 2081สมัยพระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์องค์ที่ 12 ได้ทรงโปรดฯให้เสริมพระเจดีย์ให้สูงกว่าเดิม เป็นกว้าง 6 วา สูง 11 ศอก พร้อมทั้งให้ช่างนำทองคำทำเป็นรูปดอกบัวทองใส่บนยอดเจดีย์ และต่อมาเจ้าท้าวทรายคำ ราชโอรสได้ทรงให้ตีทองคำเป็นแผ่นติดที่พระบรมธาตุในปี พ.ศ. 2100 พระมหาญาณมงคลโพธิ์ วัดอโศการาม เมืองลำพูนได้สร้างบันไดนาคหลวงทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้ประชาชนขึ้นไปสักการะได้สะดวกขึ้น และกระทั่งถึงสมัยครูบาศรีวิชัย ท่านได้สร้างถนนขึ้นไป โดยถนนที่สร้างนี้มีความยาวถึง 11.53 กิโลเมตร เป็นวัดที่โด่งดังมาก  ใครไปเชียงใหม่แล้วไม่ไปกราบนมัสการเขาว่าไปไม่ถึงเชียงใหม่
        เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่มีความสำคัญทางศาสนาและประวัติศาสตร์ของนครเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนดอยสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1926ในสมัยของพระญากือนามหาราช  มีบันไดนาคทอดยาวขึ้นไปสู่วัด 306 ขั้น ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานขององค์เจดีย์ทรงมอญ ที่ใต้ฐานพระเจดีย์มีพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรจุอยู่ วัดพระธาตุดอยสุเทพมีชื่อเต็มว่า วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพวรวิหารซึ่งจัดได้ว่าเป็นปูชนียสถาน ที่แสดงออกถึงศิลปกรรมล้านนาไทยที่สำคัญคู่เมืองเชียงใหม่ ดอยสุเทพไม่เพียงแต่เป็นที่ตั้งของวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ และพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ที่ผ่านมายังเป็นที่ประทับในช่วงฤดูหนาวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
                                                                                                                                                                                                                                                                                      
ถ่ายที่วัดดอยสุเทพ คนถ่ายฝีมือไม่ดี
บริเวณลานชมวิวดอยสุเทพ
       เมื่อกราบนมัสการองค์พระธาตุและชมวิวที่จุดชมวิวจนหนำใจแล้ว  พากันเดินลงบันได ( ผมลืมบอกไป ที่ดอยสุเทพจะมีลิฟท์ไฟฟ้าไว้คอยบริการ  แต่คนใช้บริการเยอะมากผมเลยพากันเดินขึ้นบันได  ไม่อยากรอนาน )  หลังจากพักหายเหนื่อย  ไปต่อกันที่  ตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์




วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วัดโสธรวรารามวรวิหาร

วัดโสธรวรารามวรวิหาร
      ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง ตำบลเทศบาลเมือง อำเภอเมือง  จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหารวัดโสธรวรารามวรวิหาร เดิมชื่อว่า วัดหงษ์ โดยที่วัดนี้มีเสาใหญ่ มีหงษ์เป็นเครื่องหมายติดอยู่กับยอดเสา สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ต้นเหตุที่วัดนี้ได้ชื่อว่า โสทรหรือ โสธร นั้นเล่ากันว่ากาลต่อมาหงษ์ใหญ่ที่ติดอยู่บนยอดเสานั้น พลัดตกลงมาหักทำลาย  คงเหลือแต่เสา จึงได้เอาผ้าผืนใหญ่ทำเป็นธงขึ้นไปแขวนไว้บนยอดเสาแทนหงส์  ประชาชนก็เลยเรียกชื่อตามนิมิตเครื่องหมายนั้นว่า วัดเสาธง และต่อมาเสาธงนี้ได้ถูกลมพายุพัดหักโค่นลงมาเป็น 2 ท่อน ชาวบ้านก็เลยถือเอานิมิตที่เสาธงหักเป็นท่อนนั้นตั้งเป็นชื่อวัดว่า “วัดเสาทอน” อยู่จนกาลเวลามาช้านาน จวบจนถึงสมัยที่มีพระพุทธรูป 3 องค์ พี่น้องล่องลอยน้ำมาจากเหนือ ได้อาราธนาอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัดนี้ 1 องค์ คือ หลวงพ่อโสธร  อีก 2 องค์ คือ หลวงพ่อโตวัดบางพลีใหญ่ใน และหลวงพ่อวัดบ้านแหลม

พระพุทธโสธร
    หลวงพ่อพุทธโสธร เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดฉะเชิงเทรา และชาวไทย  เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.48 เมตร ฝีมือช่างล้านช้างตามตำนานเล่าว่า หลวงพ่อพุทธโสธร เดิมทีหลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปทองสำริดปางสมาธิหน้าตักกว้างศอกศษ มีรูปทรงสวยงามมาก ได้แสดงปาฏิหาริย์ลอยน้ำมา และมีผู้อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ แต่พระสงฆ์ในวัดเกรงจะมีผู้มาลักพาไปจึงได้เอาปูนพอกเสริมหุ้มองค์เดิมไว้จนมีลักษณะที่เห็นในปัจจุบัน
     แต่เดิม หลวงพ่อพุทธโสธรประทับอยู่ในโบสถ์หลังเก่าที่มีขนาดเล็ก รวมกับพระพุทธรูปอื่นๆ 18 องค์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จราชดำเนินมาที่วัดแห่งนี้ ทรงมีพระราชปรารภเรื่องความคับแคบของพระอุโบสถเดิม พระจริปุณโญ ด. เจียม กุลละวณิชย์ อดีตเจ้าอาวาสจึงได้รวบรวมเงินบริจาคเพื่อจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างพระอุโบสถหลังใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานการสร้าง และทรงเป็นผู้กำกับดูแลงานสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ พ.ศ. 2531 และทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ น้ำหนัก 77 กิโลกรัม ประดิษฐานเหนือยอดมณฑป เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาทรงตัดหวายลูกนิมิต เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2549 
ประวัติ
ประวัติหลวงพ่อโสธรนั้น ตำนานไม่ได้กล่าวไว้ให้เป็นหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างหรือสร้างเมื่อ พ.ศ.ใด ทราบตามที่เล่าต่อๆ กันมาแต่เพียงว่า ในจังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือของไทย มีพระภิกษุสามองค์พี่น้อง เรียนพระธรรมวินัยแตกฉานแล้วก็จำแลงกายเป็นพระพุทธรูปลอยลงมาตามลำแม่น้ำ
     เมื่อมาถึงบริเวณหนึ่งก็ปรากฏองค์ขึ้น ชาวบ้านบริเวณนั้นพบเข้าก็พากันเอาเชือกมนิลามาฉุดขึ้น แต่ก็เอาขึ้นมาไม่ได้เพราะเชือกขาดก่อนที่พระทั้งสามองค์จะจมหายไป บริเวณที่พระทั้งสามองค์ทวนน้ำหนีนั้นเรียกว่า สามพระทวน ต่อมาเรียกว่า สัมปทวน อำเภอเมืองฉะเชิงเทราจนทุกวันนี้

      ต่อมาได้มาผุดขึ้นที่คลองคุ้งให้ชาวบ้านแถวนั้นเห็นอีก ชาวบ้านก็พยายามชุดขึ้นฝั่งแต่ไม่สำเร็จอีก สถานที่นั้นเรียกว่า บางพระ  แต่นั้นมาพระพุทธรูปทั้งสามองค์ก็ได้สำแดงอภินิหารในครองเล็กๆ ตรงข้ามกองพันทหารช่างฉะเชิงเทรา บริเวณนั้นเรียกว่า      แหลมลอยวน
     จวบจนองค์หนึ่งได้ลอยไปจนถึงแม่น้ำแม่กลอง และไปปรากฏผุดขึ้นที่สมุทรสงคราม ชาวประมงได้พร้อมใจกันอาราธนาขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลมหรือวัดเพชรสมุทรวรวิหาร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่นับถือของพุทธศาสนิกชนชาวสมุทรสงคราม เรียกกันว่า หลวงพ่อบ้านแหลม มาจนทุกวันนี้

                องค์ที่สองได้ลอยวนไปวนมาและมาผุดขึ้นหน้า  วัดโสธร ปัจจุบัน
ส่วนองค์สุดท้ายได้ลอยไปอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ประชาชนละแวกนั้นก็หลั่งไหลมาอาราธรนาขึ้นฝั่งฉุดขึ้นเป็นการใหญ่แต่ก็ฉุดขึ้นไม่ได้ เล่ากันว่ามีประชาชนพากันมาฉุดนับได้ถึงสามแสนคน จึงเรียกสถานที่นั้นว่า สามแสน ภายหลังจึงเพี้ยนมาเป็น สามเสน และเรียกกันอยู่ทุกวันนี้ จากนั้นพระพุทธรูปองค์นี้ก็ลอยน้ำไปผุดขึ้นที่คลองสำโรง           อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ประชาชนจึงได้ได้อาราธนาขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม  หรือหลวงพ่อโตวัดบางพลีใหญ่ใน

วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ตลาดน้ำดำเนินสะดวก

ตลาดน้ำดำเนินสะดวก

   เปิดตัวสู่สายตาชาวโลกในฐานะแหล่งท่องเที่ยวครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2510 ในภาพข้างบน ( ขออนุญาตเจ้าของภาพไว้ ณ ที่นี้ด้วย )ในสมัยนั้นตลาดแห่งนี้จะครึกครื้นไปด้วยเรือพายของชาวบ้าน ที่จำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพได้แก่ พืชผักและผลไม้ตามฤดูกาลจากเรือกสวนไร่นาของเกษตรกรในย่านนั้น และจากพ่อค้าแม่ค้าที่พายเรือเร่ขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้าในยามเช้า โดยใช้เส้นทางคมนาคมทางน้ำเป็นหัวใจหลัก นั่นคือคลองดำเนินสะดวก หรือตลาดน้ำดำเนินสะดวก   เริ่มค้าขายตั้งแต่เช้าตรู่ แต่พอเวลาประมาณไม่เกินเที่ยงวันตลาดก็จะวาย   แต่ปัจจุบันการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและทางจังหวัด ได้ประกาศอนุรักษ์ตลาดน้ำดำเนินสะดวก   จึงเปิดให้มีการซื้อขายตลอดทั้งวันเพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ   โดยมีการของขายทั้งบนบกและในเรือ ให้ผู้แก่ที่มาเที่ยวตลาดแห่งนี้ และสามารถเดินริมฝั่งคลองของตลาดได้แม้จะเป็นยามที่มีแสงแดดจัด เช่นตอนกลางวัน จึงทำให้เดินเที่ยวชม ตลาดได้สะดวกสบายมากขึ้น คลองนี้เป็นคลองที่คนใน จ. ราชบุรี จ.สมุทรสาคร และ จ.สมุทรสงคราม ไปมาหาสู่กัน  ปัจจุบันตลาดน้ำดำเนินสะดวก จึงเปรียบเสมือน เป็นที่นัดของเรือจำนวนร้อยๆลำเพื่อการชุมนุมขายสินค้าการเกษตร และสินค้าหัตถกรรมพื้นเมืองตลอดจนร้านขายของ ที่รับจากโรงงานในกรุงเทพฯหรือจากต่างจังหวัดทั่วๆไป  นอกจากนักท่องเที่ยวชาวไทยแล้ว ชาวต่างชาติก็นิยมมาเที่ยว เนื่องจากตื่นตาตื่นใจกับบรรยากาศและสินค้าที่แปลกใหม่และราคาไม่แพง    จนทำให้ตลาดน้ำคึกคัก ตั้งแต่ 6.00 น.เรื่อยไป เกือบตลอดทั้งวัน เนื่องจากปัจจุบันมีการรณรงค์ นอกจากจะได้ชมทิวทัศน์ตลาดน้ำทั้งสองฝั่งคลองแล้ว  เรายังได้เห็นวิถีชีวิตของชาวไทยชนบทเป็นภาพที่น่ามองอย่างมาก สลับกับเรือกสวนและไร่นาของชาวบ้าน
กิจกรรมเมื่อมาเที่ยวตลาดน้ำดำเนินสะดวก
            1.  เดินชมตลาดน้ำริมฝั่งคลองบริเวณตลาด

        จะมีร้านจำหน่ายสินค้าและอาหารรวมทั้งผลไม้ต่างๆ  เช่น  กล้วย ส้มโอ ชมพู่ ลำไย มะม่วง ราคาก็ไม่แพง เพราะมาจากชาวสวนโดยตรง ของกินมี ก๋วยเตี๋ยวเรือ ซึ่งมีให้เลือกหลายเจ้า นอกจากนี้ก็ยังมีสินค้า OTOP จากจังหวัดอื่นจำหน่ายด้วย
        2. ใครไปตลาดน้ำดำเนินสะดวก ถ้าไม่นั่งเรือชมบรรยากาศตามลำคลองดำเนินสะดวก ผมว่ายังไปไม่ถึงที่นะครับ  น่าเสียดาย   นอกจากเดินเที่ยวชมกันบนบก นักท่องเที่ยวยังสามารถนั่งเรือชมตลาดน้ำได้   สามารถติดต่อเช่าเรือได้ที่ท่าเรือในตลาด    ราคาเหมาเรือลำละ 500 บาท นั่งได้ 6-8 คน ใช้เวลา ประมาณ 45 นาที   (ราคาเมื่อปี2553 )    แต่ถ้าเป็นเรือคละผู้โดยสาร ท่านละ 200 บาท เมื่อนั่งเรือชมฝั่งคลองดำเนินสะดวก  จะพบว่าชาวบ้านที่มีบ้านอยู่ริมฝั่งคลองจะเปิดเป็นร้านขายของต่างๆ มากมาย 
          -     เรือติดเครื่องยนต์

          -     เรือพาย
 เป็นบรรยากาศที่ชวนให้รำลึกถึงตลาดน้ำบางพลีแถวบ้านผมเอง      ที่ถูกความเจริญของวัฒนะธรรมใหม่ๆมาบดบังเนื่องจากเป็นเขตที่ติดต่อกับกรุงเทพมหานคร       ผมเองก็หวังว่าการอนุรักษ์สิ่งที่ดีๆ  ของตลาดน้ำดำเนินสะดวกไว้ให้คงอยู่ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ดู    และศึกษาสืบต่อไปให้นานที่สุด 



การเดินทางไปตลาดน้ำดำเนินสะดวก
-  ถ้าไปรถยนต์ส่วนตัว  ก็จะสะดวกขึ้นปกติแล้วผมอยู่แถวอำเภอบางพลี  จะออกไปทางดาวคะนอง  ถ้าเป็นเส้นทางอื่นผมแนะนำให้ใช้บริการของ Google Map โดยคลิกค้นหาแผนที่ในเว็บนี้ดูจะคล่องตัวกว่า  อธิบายวิธีการใช้พร้อมเสร็จ

-  รถโดยสารปรับอากาศสายกรุงเทพฯ  ดำเนินสะดวก  ที่สถานีขนส่งสายใต้  ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่สภาพแวดล้อมเช่นฝนตก รถติด  ลงรถบริเวณตลาดเชิงสะพานธนะรัชต์  และต่อรถโดยสารสองแถว  เข้าไปถึงตลาดน้ำดำเนินสะดวก  แต่จริงๆแล้วสามารถที่จะเดินทางได้หลายเส้นทาง ก็ขอให้สอบถามรายละเอียดก่อนเดินทาง  เพราะผมเองถนัดรถยนต์ส่วนตัวมากกว่า


ภาพร้านขายของริมคลองเมื่อนั่งเรือ