วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

วัฒนธรรมทองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 84 พรรษา มหาราชา


เนื่องจากปี พ.ศ.2554 เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา นำมาซึ่งความปลื้มปีติแก่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรชาวไทยทุกคน ดังพระปฐมราชโองการที่ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" และพระองค์ได้ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติเช่นเดียวกับพระบูรพกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์
สำนักพระราชวังจึงเตรียมจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบูรพกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา 1 สิงหาคม 2555 และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในโอกาสที่จะทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา 28 กรกฎาคม 2555 ด้วย จึงถือเป็น 3 โอกาสสำคัญที่จะจัดการแสดงชุดพิเศษนี้อย่างยิ่งใหญ่


เนื้อหาของการแสดงมีการนำเสนอเรื่องราวที่ร้อยเรียงประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่เริ่มก่อร่างสร้างเมืองและการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน พร้อมทั้งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับความรักความผูกพัน  ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ    เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า
         สำหรับกิจกรรมภายในงานนอกจากการแสดงแสง-เสียงแล้ว ยังได้มีการออกร้านของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ, ร้านจำหน่ายสินค้าจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, โครงการฟาร์มตัวอย่าง และร้านของสำนักพระราชวังที่เปิดจำหน่ายรูปพระบรมฉายาลักษณ์และพระฉายาลักษณ์ที่หายากของเจ้านายทุกพระองค์อีกด้วย
              การแสดงจะเริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม 2553 ถึงวันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 19.00-20.30 น. งดการแสดงทุกวันจันทร์ ยกเว้นวันจันทร์ที่ 28 ก.พ.54 และงดการแสดงในวันที่ 27 ธ.ค.53-3 ม.ค.54 จำหน่ายบัตรในราคา 500 บาททุกที่นั่ง เริ่มจำหน่ายสำหรับประชาชนทั่วไปตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค.ศกนี้ ที่ห้องประชาสัมพันธ์ ทางเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง โทร.0-2623-5500, 0-2623-5499, ต่อ 1120-1123-1126     และ 4567-4568ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. รายได้หลังหักจากค่าใช้จ่ายจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สำหรับประชาชนในต่างจังหวัด ที่ต้องการมาชมการแสดงในพระพระบรมมหาราชวัง แต่ไม่มีโอกาสหรือไม่สะดวกในการเดินทาง สำนักพระราชวังจึงตอบสนองเพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศไทยได้ร่วมเฉลิมพระเกียรติในปีมหามงคลนี้ พร้อมทั้งร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของบูรพกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ จากการแสดงชุดพิเศษนี้โดยทั่วถึงกัน แม้ว่าความตระการตาและความประทับใจในบรรยากาศจะแตกต่างจากการชมการแสดงในพระบรมมหาราชวังเป็นอย่างมากก็ตาม
ทั้งนี้สำนักพระราชวังได้นำวีดิทัศน์การแสดงแสง เสียง และสื่อผสม "วัฒนธรรมทองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 84 พรรษา มหาราชา" ซึ่งจัดที่สนามหน้าศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ความยาว 90 นาที ออกเผยแพร่ทางเว็ปไซต์ของสำนักพระราชวังให้ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ที่ www.palaces.thai.net และ www.brh.thaigov.net ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป 

จากใจของพ่อที่มีต่อลูก


เนื่องจากช่วงนี้ใกล้จะถึงวันสำคัญ คือวันพ่อแห่งชาติ  ผมจึงขอหยิบยกเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา  เพื่อเตือนสติเด็กรุ่นลูกรุ่นหลาน  ได้เกิดความสำรวมในจิตใจ และรำลึกถึงพระคุณของพ่อ  เนื่องจากผมเองก็เป็นพ่อคนหนึ่ง  ที่มีลูกอยู่ 2 คน ชาย 1 หญิง 1 ผมเฝ้าเลี้ยงดูลูกมาตั้งแต่เล็กจนโตด้วยสำนึกอยู่ตลอดเวลาในความรับผิดชอบของพ่อที่มีต่อลูกๆ  และถือเป็นหน้าที่  และทราบดีว่าในหัวอกลูกที่ขาดพ่อจะเป็นอย่างไร  เพราะผมเองก็เคยประสพชะตากรรมเช่นนั้นมาตั้งแต่อายุได้ 6 ขวบ ชีวิตต้องดิ้นรนต่อสู้กับความอดอยาก หิวโหย  ขาดความอบอุ่น เพราะครอบครัวขาดหางเสือที่กำหนดทิศทาง  ครั้นเมื่อโตและมีครอบครัวได้กลายมาเป็นพ่อบ้าง  ผมจึงใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ  และพยายามอบรมสั่งสอนลูกๆให้เป็นคนดีมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมอยู่ตลอดเวลา และตั้งใจเล่าเรียน เพราะการศึกษาเปรียบเหมือนเครื่องมือหากิน ซึ่งในสมัยปัจจุบันที่จะขาดเสียมิได้ และนั่นคือสิ่งที่ผมตั้งใจที่จะมอบให้แก่ลูกๆทุกคน แล้วแต่ว่าใครจะตักตวงความรู้ได้มากกว่ากัน  ลูกเอ๋ย...อันความรักทั้งหลายไม่มีความรักใดสะอาดบริสุทธิ์เท่ากับความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก  จำไว้ให้ขึ้นใจ  
                 วันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริเริ่มหลักการและเหตุผลในการจัดตั้งวันพ่อแห่งชาติ พ่อเป็นผู้มีพระคุณที่มีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสมควรที่สังคมจะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็น วันพ่อแห่งชาติด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างนานัปการ ทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงรักใคร่และให้ดอกพุทธรักษาเป็นสัญลักษณ์ วันพ่อแห่งชาติ
                 ด้วยพ่อเป็นบุคคลผู้มีพระคุณ มีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกจะเคารพ เทิดทูน และตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสังคมควรที่จะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อนี่เป็นที่มาของการจัดให้มี วันพ่อแห่งชาติ
วันพ่อแห่งชาติหรือวันเฉลิมพระชนพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
5 ธันวาวันพ่อแห่งชาติ 
                5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและยังเป็นวันพ่อแห่งชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะพ่อแห่งชาติ อีกทั้งทรงเป็นพ่อตัวอย่างของปวงชนชาวไทย ที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณา ทรงบำเพ็ญคุณานุประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชน ทรงพระมหากรุณาทะนุบำรุงขจัดทุกข์ผดุงสุขพสกนิกรถ้วนหน้า พระองค์ทรงเป็น พ่อแห่งชาติที่อาณาประชาราษฎร์เทิดทูนด้วยความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และยึดมั่นในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการทะนุบำรุงชาติบ้านเมืองให้ วัฒนาถาวรสืบไป ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของวันพ่อแห่งชาติ 4 ประการ คือ

1.       เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

2.       เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม

3.       เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ

4.       เพื่อให้ผู้เป็นพ่อ สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน  
                     เป็นสองมือ   อุ้มชู   เลี้ยงดูลูก....เป็นสายใย   พันผูก   คอยห่วงหา

เป็นอ้อมกอด อบอุ่น ค้ำจุนมา....เป็นสายตา ห่วงใย ใคร่อาทร

ยามเจ็บไข้  เฝ้าดูแล ด้วยชีวิต ....ยามพลั้งผิด ท่านอบรม คอยบ่มสอน

ยามเหนื่อยหน่ายกำลังใจไม่สั่นคลอน....ยามใดใด ยังอาทร ไม่เปลี่ยนแปร

ด้วยความรัก ของพ่อ ที่ยิ่งใหญ่ .....ด้วยหัวใจ สะอาดใส เป็นแน่แท้

ด้วยชีวิต เพื่อลูก .. เฝ้าดูแล ....ด้วยสองมือ ไม่ผันแปร เป็นอื่นใด

ชายคนหนึ่ง ทำทุกอย่าง ไม่เคยบ่น    ทั้งตากแดด ตากฝน ยอมทนหนาว

เพื่อความหวัง ที่สดใส  สุขสกาว      ให้ลูกชาย  ลูกสาว  ได้เล่าเรียน

แม้ต้องแลก กับหยาดเหงื่อ  สักกี่หยด        แม้ต้องควัก สตางค์หมด  จนเป็นหนี้

ไม่เคยท้อ  หวังแค่ลูก ได้จบตรี แต่ลูกสิ  กับชั่ว  จนลืมตน

ได้แต่ขอ เงินท่าน ไม่เคยขาด      เอาไปใช้ เรื่องอุบาท จนหมดสิ้น

ไม่เคยคิด ไม่เคยนึก ได้แต่ชิน     ชินกับการ ฟุ่มเฟือย จนเลื่อยมา

แล้วสุดท้าย ความเจ็บปวด มันหวนกลับ      คนที่รับ นั้นคือพ่อ ใช่ไหมหนา

ต้องมานั่ง ร้องไห้ เสียน้ำตา     พ่อเร่งหา ลูกล้างผลาญ หมั่นทำลาย

จนวันหนึ่ง คิดได้ ในที่สุด     แต่เวลา กับหยุด ฝันสลาย

ท่านไม่ได้ อยู่กับเรา ไปจนตาย    กว่าคิดได้ มันคงสาย ไม่หวนคืน

วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประเพณีลอยกระทงไทย



ประเพณีลอยกระทง
ประวัติความเป็นมา
ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีโบราณของไทย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าทำกันมาตั้งแต่เมื่อไร เท่าที่ปรากฎกล่าวได้ว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีเดียวเห็นจะเป็นพิธีของพราหมณ์กระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้ถือตามแนวทางพระพุทธศาสนา มีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา
                ในสมัยสุโขทัย นางนพมาศ พระสนมของพระร่วงได้คิดทำกระทงถวายเป็นรูปดอกบัวและรูปต่างๆ ให้ทรงลอยตามสายน้ำไหล พระร่วงเจ้าทรงพอพระราชหฤทัยกระทงดอกบัวของนางนพมาศมาก จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง ดังปรากฏในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์กล่าวถึงพระดำรัสของพระร่วงว่าตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการะบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน" ด้วยเหตุนี้โคมลอยรูปดอกบัวจึงปรากฏมาจนทุกวันนี้ แต่เรียกเปลี่ยนชื่อว่า ลอยกระทงประทีปในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จประทับเรือพระที่นั่งไปถวายดอกไม้เพลิงบูชาพระรัตนตรัยทุกพระอารามหลวงที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำแล้วทอดพระเนตรการขับร้องประโคมดนตรีของประชาชน พระราชพิธีลอยกระทงในครั้งนั้นทำเป็นการใหญ่สนุกสนานมาก

                ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศ พระเจ้าแผ่นดินลังกาได้ส่งราชทูตที่เข้ามาก็ได้ชมพิธีลอยกระทง ตามจดหมายราชทูตลังกาว่า ก่อนอรุณ มีข้าราชการไทยสองคนลงมาบอกราชทูตานุทูตว่า ในค่ำวันนี้จะมีกระบวนแห่สมเด็จพระราชดำเนินตามชลมารคในการพระราชพิธีฝ่าย ศาสนากระบวนเสด็จผ่านที่พักราชทูตมา กระบวนพิธีมรามูตานุทูตได้เห็นมีดังนี้ ตามบรรดาริมน้ำทั้งสองฟากทุกวัด ต่างปักไม้ไผ่ลำยาวขึ้นเป็นเสาโน้มไม้ลงมาผูกเชือกชักโคมต่างๆ ครั้นได้เวลาพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จโดยกระบวนเรือ พร้อมด้วยกรมพระราชวังบวรสถานมงคลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และเจ้ามหาพระยามหาอุปราช เรือที่เสด็จล้วนปิดทอง มีกันยาดาดสีและผูกม่านในลำเรือปักเชิงทองซองเงิน มีเทียนจุดตลอดลำ มีเรือข้าราชการล้วนแต่งประทีปนำเสด็จด้วยเป็นอันมาก ในการพระราชพิธีนี้ยังมีกระดาษทำเป็นรูปดอกบัวสีแดงบ้าง สีขาวบ้าง มีเทียนจุดอยู่ในนั้นปล่อยลอยตามน้ำลงมาเป็นอันมาก และมีระบำดนตรีเล่นมาในเรือนั้นด้วย

            ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พิธีนี้นิยมทำกันเป็นการใหญ่มีหลักฐานปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งพระเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) กล่าวไว้ว่า ครั้นมาถึงเดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ แรมหนึ่ง พิธีจองเปรียงนั้น เดิมได้โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ฝ่ายหน้าในและข้าราชการที่มีกำลังพาหนะมากทำกระทงใหญ่ ผู้ถูกเกณฑ์ต่อเป็นถังบ้างเป็น บ้าง กว้างแปดศอกบ้าง เก้าศอกบ้าง กระทงสูงตลอด 10 ศอก 11 ศอก ทำประกวดประชันกันต่างๆ ทำอย่างเขาพระสุเมรุทวีปทั้ง 4 บ้าง และทำเป็นกระจาดชั้นๆ บ้าง วิจิตรไปด้วยเครื่องสด คนทำก็นับร้อยคิดในการลงทุนกระทงทั้งค่าเลี้ยงคนและพระช่างเบ็ดเสร็จก็ถึง 20 ชั่ง ย่อมกว่า20 ชั่งบ้าง กระทงนั้น วัน 14 ค่ำ เครื่องเขียว 15 ค่ำ เครื่องขาว วันแรมค่ำหนึ่ง เครื่องแดง ดอกไม้สดก็เลือกตามสีกระทง และมีจักรกลไกลต่างกันทุกกระทง มีมโหรีขับร้องอยู่ในกระทงนั้นก็มีบ้าง เหลือที่จะพรรณาว่ากระทงนั้น ผู้นั้นทำอย่างนั้นๆ คิดดูการประกวดประชันจะเอาชนะกัน คงวิเศษต่างๆ กัน เรือมาดูกระทงตั้งแต่บ่าย 4 โมง เรือชักลากกระทงขึ้นไปเข้าที่ตั้งแต่บ่าย 4 โมง เรือเบียดเสียดสับสนกันหลีกไม่ค่อยไหวเป็นอัศจรรย์เรือข้าราชการและราษฏรมาดูกันเต็มไปทั้งแม่น้ำ เวลาค่ำเสด็จพระตำหนักน้ำทรงลอยประทีป การทำกระทงใหญ่ในลักษณะดังกล่าวนี้ น่าจะมาแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 ครั้งมาถึง
                รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง จึงโปรดให้ยกเลิกเสียและโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ทำเรือลอยประทีป แทนกระทงใหญ่ถวายองค์ละลำเรียกว่า เรือลอยประทีปต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้อีก
                ในปัจจุบัน การลอยประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย แต่พิธีของชาวบ้านยังทำกันอยู่เป็นประจำ

วัตถุประสงค์
1. เพื่อบูชารอยพระบาทที่ประดิษฐ์ ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา อันเป็นการเจริญพุทธานุสติรำลึกถึงคุณค่า พระพุทธเจ้าเช่นเดียวกับที่ผู้นับถือศาสนาพราหมณ์   บูชาพระผู้เป็นเจ้าของเขา
2. เพื่อแสดงความสำนึกคุณของน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ อันเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิต ซึ่งสมมุติเป็นแม่พระคงคาและขอขมาลาโทษที่อาจทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้แหล่งน้ำนั้นๆ ไม่สะอาด การสำนึกคุณและขออภัยถือเป็นวัฒนธรรมอันดีงามอย่างหนึ่งของไทย
3. เพื่อความรื่นเริงบันเทิงใจและสังสรรค์กันระหว่างผู้ไปร่วมงาน เพราะเดือน 12 เป็นฤดูกาล ที่น้ำเต็มฝั่งเมื่อถึงวันพระจันทร์ เพ็ญจะแลดูงดงามมาก จึงมีลอยกระทงซึ่งทำให้เกิดแสงวอมแวมชวนให้ชื่นชมในการลอยกระทงนั้นบางคนก็จะอธิฐานขอสิ่งที่ตนปรารถนาหรือเสี่ยงทายเกี่ยวกับชีวิตของตนตามอัธยาศัย
4. เพื่อส่งเสริมงานช่างฝีมือในการประดิษฐ์กระทงด้วยใบตอง กาบกล้วยหรือวัสดุพื้นบ้านต่างๆ มีการประกวดกระทงส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์และงานฝีมือ
5. เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคือ แหล่งน้ำให้ปราศจากมลภาวะ โดยตักเตือนกันมิให้มักง่ายทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ
6. เพื่อธำรงส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีไทย และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวนำรายได้มาสู่ประเทศชาติไปในขณะเดียวกัน
ในวันลอยกระทง ผู้คนจะพากันทำ "กระทง" จากวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตบแต่งเป็นรูปคล้ายดอกบัวบาน ปักธูปเทียน และนิยมตัดเล็บ เส้นผม หรือใส่เหรียญกษาปณ์ลงไปในกระทง แล้วนำไปลอยในสายน้ำ (ในพื้นที่ติดทะเล ก็นิยมลอยกระทงริมฝั่งทะเล) เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ไป นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการลอยกระทง เป็นการบูชาและขอขมาพระแม่คงคาด้วย
               
ภาคเหนือ
จังหวัดเชียงใหม่ มีประเพณี"ยี่เป็ง"เชียงใหม่ ในทุกๆปีจะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา และมีการปล่อยโคมลอยขึ้นเต็มท้องฟ้า นิยมทำโคมลอย เรียกว่า "ลอยโคม" หรือ "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" ทำจากผ้าบางๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศอย่างบัลลูน ประเพณีของชาวเหนือนี้เรียกว่า ยี่เป็ง หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่(ซึ่งนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย)
"ประเพณียี่เป็ง" คือ ประเพณีในเทศกาลวันเพ็ญ เดือน ๑๒ เป็นงานประเพณี อันยิ่งใหญ่แห่งดินแดนล้านนา ที่ได้ปฎิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล "ยี่เป็ง" หรือวันเพ็ญเดือนยี่ของชาวล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 ของภาคกลาง อันเป็นช่วงปลายฤดูฝน ต้นฤดูหนาว อากาศปลอดโปร่งท้องฟ้าแจ่มใส ธรรมเนียมปฎิบัติของชาวล้านนาอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการลอยกระทงในแม่น้ำก็คือ การจุดประทีปโคมลอยขึ้นไปสว่างไสวบนท้องฟ้า โดยมีคติความเชื่อว่า เพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณี บนสรวงสวรรค์ หรือบ้างก็เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ หรือสะเดาะเคราะห์ ให้เกิดความเป็นมงคลแก่ชีวิต
ภาคอีสาน
                ในอดีตมีการเรียกประเพณีลอยกระทงในภาคอีสานว่า สิบสองเพ็ง หมายถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองซึ่งจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป

ภาคกลาง มีการจัดประเพณีลอยกระทงขึ้นทั่วทุกจังหวัด
กรุงเทพมหานคร จะมีงานภูเขาทอง เป็นรูปแบบงานวัด เฉลิมฉลองราว 7-10 วัน ก่อนงานลอยกระทง และจบลงในช่วงหลังวันลอยกระทง
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการจัดงานประเพณีลอยกระทงกรุงเก่าขึ้นอย่างยิ่งใหญ่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ภายในงานมีการจัดแสดงแสง สี เสียง อย่างงดงามตระการตา
ภาคใต้
อย่างที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนั้น ในจังหวัดอื่นๆ ก็จะจัดงานวันลอยกระทงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ในแต่ละท้องถิ่นยังอาจมีประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างกันไป และสืบทอดต่อกันเรื่อยมาความเชื่อเกี่ยวกับวันลอยกระทง
จากวิกิพีเดียสารานุกรมเสรี
      ประเพณีลอยกระทงที่วัดบางโฉลงนอก
              ปีนี้จัดงานใหญ่โตมโหฬารมาก  คลื่นมหาชนต่างหลั่งไหลกันมาเที่ยวงานกันอย่างหนาแน่น  จนบริเวณลานวัดมองดูแคบลงไปถนัดตา     ยังดีนะครับที่สถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิและสถานีต่างๆยังเข้าใจความรู้สึกของประชาชน ที่ปรับระดับน้ำให้ปริ่มตลิ่งเพื่อให้ประชาชนสามารถลอยกระทงได้  เพราะก่อนหน้านี้ปริมาณในลำคลองสำโรง  คลองบางโฉลง และคลองต่างๆที่เชื่อมโยงถึงกันถูกสูบจนจะแห้งคลองหมด เพื่อรองรับมวลน้ำที่จะมาจากกรุงเทพ
แต่น้ำไม่มาสักที  ชาวบ้านละแวกนี้บอกว่าจะฟ้องร้องกรมชลประทาน  ฐานสูบน้ำจนไม่มีน้ำจะลอยกระทง 


      เป็นบริเวณหน้าวัดบางโฉลงนอกริมคลองสำโรง  ปลาสวายเยอะมาก  ทางวัดเองก็เกรงว่าน้ำจะท่วมกลัวประชาชนลำบากอุตส่าทำสะพานไม้ไว้ตลอดริมคลองหน้าวัด  ถ้าใครใจบุญสามารถซื้อขนมปังหรืออาหารปลา  เพื่อทำบุญให้อาหารปลามีบริการทุกวัน
วัดบางโฉลงนอกมีพระประทานที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ หลวงพ่อขาว



ลอดท้องช้างสะเดาะเคราะห์

ศรเพชร  ศรสุพรรณ



วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

วัดบางพลีใหญ่กลาง(วัดพระนอนใหญ่)

วัดบางพลีใหญ่กลาง(วัดพรระนอนใหญ่)


ที่มาของ ประวัติความเป็นมา จากบทสัมภาษณ์พระครูพิศาลวุฒิกิจ ในแผ่นพับของวัดบางพลีใหญ่กลาง

               วัดบางพลีใหญ่กลาง สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2367 ชาวบ้าน  เรียกว่า "วัดกลาง" เพราะตั้งอยู่ท่ามกลางระหว่างวัดบางพลีใหญ่ในกับวัดคงคาราม (ร้างไปแล้ว) วัดบางพลีใหญ่กลางนี้เดิมเรียกว่า "วัดน้อยปทุมคงคา" สันนิษฐานว่ามีพระผู้ใหญ่จากวัดปทุมคงคาในกรุงเทพฯ มาตั้งสำนักสงฆ์ไว้ บ้างก็สันนิษฐานว่าอยู่ในพื้นที่มีน้ำ (คลองสำโรง)ท่วมถึง มีดอกบัวในท้องถิ่นมาก ต่อมาเปลี่ยนวัดใหม่ว่า"วัดราษฏร์ศรัทธาธรรม" และในที่สุดเปลี่ยนเป็น"วัดบางพลีใหญ่กลาง"ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2478
ถาม:
                ขอให้ท่านเจ้าอาวาสเล่าถึงประวัติของวัด  และอดีตเจ้าอาวาสโดยสังเขป
พระคุณเจ้า:
     มีเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทั้งหมด 9 รูปได้แก่    
                  รูปที่ 1 พระอธิการพ่วง พระอาจารย์ชำ
                  รูปที่ 2 พระปลัดกรุด
                  รูปที่ 3 พระอธิการเพ็ง
                  รูปที่ 4 พระอาจารย์ชำ
                  รูปที่ 5 พระอธิการเสม
                  รูปที่ 6 พระอรรถโถวิทวุฒิคุณ(หลวงปู่กิ่ม)
                  รูปที่ 7 พระครูโสภณธรรมาภรณ์
                  รูปที่ 8 พระครูปลัดไพศาล
            รูปที่ 9 พระครูพิศาลวุฒิกิจ(พระอุปัชฌาย์)
                นับตั้งแต่ พ.ศ. 2367 ถึงปัจจุบัน เวลาล่วงเลยมาแล้ว 185 ปี วัดได้เจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับ เป็นที่รักจักแพร่หลายของคนทั่วไป  แต่ในเขตอำเภอบางพลีของเรามีวัดมากมายและตั้งอยู่ไม่ไกลกัน  เอกลักษณ์ของวัดบางพลีใหญ่กลางคือ พระนอนใหญ่  คนใกล้ไกลอาจไม่แน่ใจว่า  วัดไหนคือวัดบางพลีใหญ่กลาง  แต่ถ้าบอกว่าวัดพระนอนใหญ่ก็เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วๆไป
ถาม:     
       ประชาชนทั่วไปเคยชมข่าวสารทางโทรทัศน์  โดยเฉพาะคนที่อยู่ไกลหรือชาวต่างประเทศ  มักถามเสมอว่าเมื่อครั้งก่อนผ่านมาเห็นพระพุทธสีห์ไสย์สน์อันสวยงามสง่าอยู่กลางแจ้ง  ครั้นกลับมาอีกครั้งไม่เห็นพระนอนใหญ่  ใคร่ขอให้พระคุณเจ้าได้เล่าความเป็นมาโดยย่อ  ด้วยทั้งทราบข่าวคราวว่าพระคุณเจ้าเป็นผู้ดำริในการจัดสร้าง  ไม่ทราบว่ามีแรงจูงใจหรือมีวัตถุประสงค์หลักสำคัญอย่างไร?
 พระคุณเจ้า:
หากให้อาตมาเล่าคงต้องใช้เวลามากพอสมควร  หากจะต้องการทราบโดยละเอียด  ขอให้คุณโยมหาโอกาสไปนมัสการและเดินทางไปเที่ยวชมดัวยตนเองบ้างเมื่อมีโอกาส  สำหรับแรงจูใจโดยย่อก็ไม่มีอะไรมาก  จากการไปจารึกแสวงบุญเทศนาอบรมพุทธศาสนิกชนในที่ต่างๆ  ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ได้พบได้เห็นสิ่งต่างๆ อันเป็นอัศจรรย์ของโลก  ได้เห็นศรัทธาแห่งมหาชนล้วนแต่ได้ทำให้เกิดสิ่งอัศจรรย์ต่างๆขึ้น  ประกอบกับตำบลบางพลีใหญ่ของเราในอดีตยังไม่มีพุทธสถานขนาดใหญ่ที่จะเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาของชาวชุมชน  ทั้งให้สามารถเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม  ได้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวบางพลี  พุทธสถานหลายอย่างมีคนทำมากแล้ว  พระสีหาไสยาสน์ไม่ค่อยมีใครสร้าง  ที่สร้างไว้แต่อดีต เช่นพระนอนวัดโพธิ์ กรุงเทพฯ พระนอนจักรสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี  ด้วยเหตุนี้พออาตมา มาบวชได้ 21 พรรษา  จึงได้ตัดสินใจสร้างพระนอนใหญ่ขึ้นดังที่ปรากฏ
ส่วนคำถามที่ประชาชนไกลๆ และชาวต่างประเทศมักถามเสมอว่าพระนอนใหญ่หายไปไหน  มาครั้งหลังไม่เห็นพระนอนใหญ่อันสวยสง่างาม  และเป็นพระนอนใหญ่ที่สุดในประเทศไทยนั้น  เมื่อพระนอนใหญ่สร้างเสร็จเรียบร้อย  ดูตระหง่านเป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวบางพลีและของวัด  เป็นศูนย์รวมศรัทธามหาชน อันเป็นที่ล่ำลือไปทั่ว ทำให้มีนักท่องเที่ยว ผู้แสวงบุญ หลั่งไหลเข้ามาชมวัดบางพลีใหญ่กลาง อันเป็นแหล่งที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสมุทรปราการ  อาตมาพร้อมด้วยพระคุณเจ้าในวัด และอุบาสก อุบาสิกาเห็นว่าพระนอนใหญ่ นอนตากแดด ตากลม ตากฝน อาจทำให้พระนอนชำรุดทรุมโทรม  ดังนั้นใน พ.ศ. 2529  จึงเริ่มก่อสร้างมหาวิหารครอบองค์พระนอนใหญ่  ซึ่งทั้งพระนอนใหญ่และมหาวิหารใช้งบประมาณกว่า 69 ล้านบาท  ซึ่งทั้งภายในองค์พระนอน และมหาวิหารได้ใช้ประโยชน์  เป็นสถานที่ปฏิบัติกัมมัฏฐานและประโยชน์อื่นๆ เป็นอเนกประการ
ด้านหน้ามหาวิหาร
ปิดทองหัวใจพระศากยมุณีศรีสุเมธบพิตร
ถาม:
ทราบว่าที่ชั้น 4 ขององค์พระนอนใหญ่ เป็นที่บรรจุหัวใจพระนอนใหญ่ปิดทองเหลืองอร่าม  ขอพระคุณเจ้าได้ช่วยอธิบาย ความหมายของการปิกทองหัวใจพระนอน ซึ่งอาจมีแห่งเดียวในประเทศไทย
พระคุณเจ้า:
                การปิดทองหัวใจพระ เป็นนัยการบอกให้ผู้กระทำทราบว่าเข้าถึงหัวใจหรือเข้าถึงแก่นแท้แห่งพระพุทธศาสนา คือการเข้าถึงความสุขอันแท้จริง  ก่อนที่เราจะทำการปิดทองหัวใจพระ  ควรตั้งจิตอธิษฐาน      ขอบารมีหลวงพ่อพระนอนใหญ่ปกปักรักษาให้หัวใจของเราปราศจากโรคาพยาธิต่างๆ  นอกจากนี้ที่พระเกศของพระนอนใหญ่ ยังบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้อีกด้วย  เมื่อได้มีโอกาสเข้าไปนมัสการปิดทองหัวใจพระดังกล่าวแล้ว จะได้พบเห็นอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายทั่วไป เช่นเดียวกันกับอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายของตัวเรา จะเกิดการปลงอนิจจัง
ปิดทองหัวใจพระศากยมุณีศรีสุเมธบพิตร
พระนอนใหญ่
               สมเด็จพระศากยมุณีศรีสุเมธบพิตร วัดบางพลีใหญ่กลาง อ.บางพลี จ. สมุทรปราการ เป็นพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ยาว 26 วา 1 ศอก 9 นิ้ว กว้าง 3 วา 1 ศอก สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2521 เสร็จเมื่อปี พ.ศ.2544 โดยพระครูพิสศาลวุฒิกิจ เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลางรูปปัจจุบัน แรงบันดาลใจในการสร้างพระนอนท่านเล่าว่า จากประสบการณ์ที่อยู่ในสมณะเพศได้เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ จึงเกิดความคิดที่จะทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อเป็นการสร้างกุศล และให้ประชาชนมาทำบุญที่วัดมากๆเหมือนกับวัดอื่นๆ ที่เคยพบเห็น พระนอนดังกล่าวนี้ ภายในมีห้องปฏิบัติกรรมฐาน มีภาพเขียนเป็นเรื่องราวเทวดานรก และเรือสำเภาหน้าวัดด้านริมคลองสำโรงและมีอวัยวะภายใน โดยเฉพาะหัวใจจะบรรจุด้วยเพชรนิล จินดา น้ำพันจันทร์ และทองคำ สื่อความหมายถึงความแข็งแกร่งและศักดิ์สิทธิ์ เพื่อประชาชนมาปิดทองที่หัวใจพระนอนเปรียบเสมือนปิดทองหัวใจพระพุทธเจ้า
สิ่งที่น่าสนใจศึกษาและเรียนรู้  
  วัดบางพลีใหญ่กลาง  ชาวบางพลี  เรียกว่า  วัดกลาง  หรือ  วัดพระนอน ตามลักษณะพระพุทธรูป  ซึ่งเข้าไปภายในโบสถ์จะเห็นพระนอนองค์ขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่  ซึ่งความยาวขององค์พระนอน ตั้งแต่ปลายเกศถึงพระบาท ยาว 52  เมตร  50  เซนติเมตร  กว้าง  7  เมตร  นับว่าเป็นพระพุทธรูปปางไสยยาสน์องค์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในปัจจุบัน  นอกจากภายในโบสถ์จะมีพระนอนที่ใหญ่แล้ว ยังมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ให้ประชาชนเข้ามากราบไหว้ และมีสิ่งหนึ่งที่ประชาชนให้ความสนใจคือ  ช้างเสี่ยงทาย  มีความเชื่อกันว่าถ้าใครมาอธิฐาน  และหากว่าคำอธิฐานที่ตนอธิฐานเป็นจริงก็จะยกช้างขึ้น  ตรงกันข้าม หากคำอธิฐานไม่เป็นจริงก็จะยกช้างไม่ขึ้น  ภายในองค์พระนอนจะมีห้องต่าง ๆ โดยทางเดินปูพื้นด้วยหินขาว  บันไดทางขึ้นปูด้วยหินอ่อน  ขึ้นไปชั้นที่  2 เป็นที่ฝึกกรรมฐานของพระ  ชั้นที่  3  มีภาพเขียนที่เขียนแสดงเรื่องราวพุทธประวัติ  และเรื่องราวที่เขียนเกี่ยวกับการทำความดี  ว่าทำความดีแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์เป็นนางฟ้า  เทวดา  และเขียนเกี่ยวกับการทำความชั่วว่า  ถ้าทำความชั่วก็จะตกนรกตายไปจะเป็นเปรต  เป็นต้น ซึ่งภาพเหล่านี้เขียนโดยอาจารย์  วัจฉละ สาเงิน  ครูศิลปะจากโรงเรียนสตรีสมุทรปราการ  ส่วนชั้นที่  4  เป็นชั้นที่ทุกคนเมื่อได้มาแล้วต้องขึ้นไป  เพราะในชั้นนี้เป็นชั้นที่บรรจุหัวใจพระนอน  ปิดทองเหลืองอร่าม  ซึ่งสาธุชนถือว่าการที่ได้กราบไหว้ และปิดทองที่หัวใจพระนอนก่อให้เกิดบุญกุศล