วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

จังหวัดลพบุรี Lopburi

จังหวัดลพบุรี  Lopburi
ลพบุรี  ถือได้ว่าเป็นประตูสู่ภาคเหนือของประเทศไทยก็ว่าได้  ดูจากขบวนรถไฟ  เพราะหลังจากแยกเส้นทางออกจากรถไฟสายอีสานที่ชุมทางบ้านภาชี  จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว ก็จะพบจังหวัดลพบุรีก่อนจังหวัดอื่นๆ  และเป็นจุดสิ้นสุดทางคู่ กรุงเทพฯ ชุมทางบ้านภาชี ลพบุรี  เริ่มต้นทางเดี่ยวลพบุรี เชียงใหม่
ลพบุรี เป็นเมืองแห่งความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมที่ต่อเนื่องยาวนานกว่า 3,000 ปี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน มีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตั้งแต่สมัยทวาราวดี พุทธศตวรรษที่ 11-16  ลพบุรีอยู่ใต้อำนาจมอญและขอมจนกระทั่งในตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ 19 คนไทยจึงเริ่มมีอำนาจขึ้นในดินแดนแถบนี้ ในรัชสมัยของพระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ลพบุรีมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง กล่าวคือพระเจ้าอู่ทองได้โปรดให้พระราเมศวร ราชโอรสองค์ใหญ่เสด็จมาครองเมืองลพบุรี เมื่อ พ.ศ. 1893 พระราเมศวรโปรดให้สร้างป้อม ขุดคู และสร้างกำแพงเมืองอย่างมั่นคง เมื่อพระเจ้าอู่ทองสวรรคตใน พ.ศ. 1912 พระราเมศวร ต้องถวายราชบัลลังก์ให้แก่พระปิตุลาของพระองค์ ซึ่งได้ขึ้นครองราชย์พระนามว่า พระบรมราชาธิราชที่ 1 ส่วนพระราเมศวร  ครองเมืองลพบุรีสืบต่อไป จนถึง พ.ศ. 1931 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 สวรรคต พระราเมศวรจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่สอง
หลังจากนั้น มาเมืองลพบุรีได้ลดความสำคัญลงไป จนกระทั่งมาถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) ลพบุรีได้รับการทำนุบำรุงครั้งใหญ่ สืบเนื่องมาจากการคุกคามของชนชาติฮอลันดาที่ติดต่อค้าขายกับไทย ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยานั้นไม่สู้ปลอดภัยจากการปิดล้อมระดมยิงของข้าศึกหากเกิดสงคราม จึงได้สร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีที่สองขึ้น เพราะลพบุรีมีลักษณะทางยุทธศาสตร์เหมาะสม ในการสร้างลพบุรีขึ้นใหม่ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงได้รับความช่วยเหลือจากช่างชาวฝรั่งเศสและอิตาเลียน และได้สร้างพระราชวังและป้อมปราการเป็นแนวป้องกันอย่างแข็งแรง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ประทับอยู่ที่ลพบุรีเป็นส่วนใหญ่ และโปรดให้ทูตและชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าพระองค์ที่เมืองนี้หลายครั้ง
สิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ แล้ว ลพบุรีก็หมดความสำคัญลง สมเด็จพระเพทราชาได้ทรงย้ายหน่วยราชการทั้งหมดกลับกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลต่อๆ มา ก็ไม่ได้เสด็จมาประทับที่เมืองนี้อีก จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ใน พ.ศ. 2406 โปรดฯ ให้บูรณะเมืองลพบุรี ซ่อมกำแพง ป้อม และประตูพระราชวังที่ชำรุดทรุดโทรม และสร้างพระที่นั่งพิมานมงกุฎขึ้นในพระราชวังเป็นที่ประทับ และพระราชทานนามว่า พระนารายณ์ราชนิเวศน์ลพบุรีจึงแปรสภาพเป็นเมืองสำคัญอีกวาระหนึ่ง
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ลพบุรีได้รับการทำนุบำรุงอีกครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งได้สร้างเมืองลพบุรีใหม่อันเป็นเมืองทหารอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของทางรถไฟ มีอาณาเขตกว้างขวาง ส่วนเมืองเก่านั้นอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของทางรถไฟ เมืองลพบุรีจึงเป็นศูนย์กลางสำคัญทางยุทธศาสตร์เมืองหนึ่งในปัจจุบันนี้  ลพบุรีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 153 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 6,586.67 ตารางกิโลเมตร
จังหวัดลพบุรี  มีแหล่งท่องเที่ยว  ที่น่าสนใจอยู่มากมายอาทิ  งานประเพณี  เทศกาลกระท้อนหวานและของดีเมืองลพบุรี,  และทางวัฒนธรรมโบราณต่างๆ      
พระนารายณ์ราชนิเวศน์
เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประจำปี 2545 รางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม บริเวณพิพิธภัณฑ์ฯ เปิดให้เข้าชมในวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. ส่วนโบราณสถานพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เปิดให้เข้าชม วันจันทร์-อาทิตย์ เวลา 07.00-17.30 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3641 1458
พระปรางค์สามยอด
ตั้งอยู่บนเนินดินด้านตะวันตกของทางรถไฟ ใกล้กับศาลพระกาฬ มีลักษณะเป็นปรางค์เรียงต่อกัน 3 องค์ มีฉนวนทางเดินเชื่อมติดต่อกัน พระปรางค์สามยอดเป็นศิลปะเขมร ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 สร้างด้วยศิลาแลง และตกแต่งลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม เสาประดับกรอบประตูแกะสลักเป็นรูปฤาษีนั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งเป็นแบบเฉพาะของเสาประดับกรอบประตูศิลปะเขมร ปรางค์องค์กลางมีฐาน แต่เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและมีเพดานไม้เขียนลวดลายเป็นดอกจันสีแดงด้านหน้า ภายในวิหารประดิษฐานพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยาตอนต้น ปัจจุบันยังคงประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง
เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่เวลา 07.00-17.00 น. เว้นวันจันทร์-อังคาร ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 036-41 2510,  036-41 3779
เทวสถานปรางค์แขก
อยู่ใกล้กับนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นโบราณสถานที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของลพบุรี เป็นปรางค์ก่อด้วยอิฐมีสามองค์ แต่ไม่มีฉนวนเชื่อมต่อกันเหมือนปรางค์สามยอด นักโบราณคดีกำหนดว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 เพราะมีลักษณะคล้ายกับปรางค์ ศิลปะเขมรแบบพะโค (พ.ศ. 1425-1536) เป็นปรางค์แบบเก่า ซึ่งมีประตูทางเข้าแบบโค้งแหลม ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้สร้างวิหารขึ้นด้านหลัง และถังเก็บน้ำซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของปรางค์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างวิหารขึ้นด้านหน้า และถังเก็บน้ำประปาทางด้านทิศใต้ของเทวสถาน
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
 ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟลพบุรี สิ่งที่น่าสนใจ คือ ศาลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งเป็นที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเปลื้องเครื่องทรง ก่อนที่จะเข้าพิธีทางศาสนาในพระวิหารหรือพระอุโบสถ ปัจจุบันศาลาเปลื้องเครื่องคงเหลือเพียงเสาเอนอยู่เท่านั้น ส่วนอื่นปรักหักพังไปหมดแล้ว ถัดจากศาลาเปลื้องเครื่องเป็นวิหารหลวง ซึ่งสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นวิหารขนาดใหญ่ ประตูทำเป็นเหลี่ยมแบบไทย เปิดให้เข้าชมระหว่างเวลา 07.00-17.00 น. เว้นวันจันทร์-อังคาร อัตราเข้าชม คนไทย 10 บาท ต่างประเทศ 30 บาท เด็กไม่เสียค่าใช้จ่าย
พระที่นั่งไกรสรสีหราช (พระที่นั่งเย็นหรือตำหนักทะเลชุบศร)
ตั้งอยู่ที่ตำบลทะเลชุบศร ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 4 กิโลเมตร  เป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช องค์พระที่นั่งตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเลชุบศร ซึ่งในสมัยโบราณเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีเขื่อนหินถือปูนล้อมรอบ สมเด็จพระนารายณ์ฯโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อทรงสำราญพระราชอริยาบถ 
บ้านหลวงรับราชทูต หรือ บ้านหลวงวิชาเยนทร์
ตั้งอยู่บนถนนวิชาเยนทร์ ห่างจากปรางค์แขกประมาณ 300 เมตร ทางทิศเหนือของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ สำหรับเป็นที่รับรองราชทูตที่มาเฝ้าฯ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่เมืองลพบุรี คณะราชทูตจากประเทศฝรั่งเศสชุดแรกที่เข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2228 ได้พำนัก ณ ที่แห่งนี้ ต่อมา Constantine Phaulkon (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ซึ่งเป็นชาวกรีกได้เข้ามารับราชการได้รับความดี ความชอบ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นถึง เจ้าพระยาวิชาเยนทร์และได้พระราชทานที่พักอาศัยให้ทางทิศตะวันตกของบ้านหลวงรับราชทูต
นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ระหว่างเวลา 07.00-17.00 น. เว้นวันจันทร์-อังคาร อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3641 2510, 0 3641 3779
ศาลพระกาฬ
ตั้งอยู่ริมทางรถไฟด้านทิศตะวันออกของพระปรางค์สามยอด ตำบลท่าหิน เป็นเทวสถานเก่าของขอม สร้างด้วยศิลาแลงเรียงซ้อนกันเป็นฐานสูง จึงเรียกกันมาแต่ก่อนอีกชื่อหนึ่งว่า ศาลสูงที่ทับหลังซึ่งทำด้วยศิลาทรายสลักเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 วางอยู่ติดฝาผนังวิหารหลังเล็กชั้นบน ณ ที่นี้ได้พบหลักศิลาจารึกแปดเหลี่ยมจารึกอักษรมอญโบราณ ในบริเวณรอบศาลพระกาฬร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ จึงเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงลิงกว่า 300 ตัว ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของจังหวัดลพบุรี
สวนรุกขชาติน้ำตกวังก้านเหลือง
ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลท่าดินดำ น้ำตกวังก้านเหลืองนี้ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี เนื่องจากมีต้นน้ำเกิดจากตาน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก ห่างจากบริเวณน้ำตกประมาณ 1.5 กิโลเมตร
การเดินทาง
จากตัวเมืองลพบุรีไปน้ำตกวังก้านเหลืองใช้เส้นทางลพบุรี-โคกสำโรง (ทางหลวงหมายเลข 1) จากนั้นใช้เส้นทางโคกสำโรง-ชัยบาดาล (ทางหลวงหมายเลข 205 ) ถึงบริเวณที่บรรจบกับทางหลวงหมายเลข 21 แล้วต่อเข้าทางหลวงหมายเลข 2089 ไปอำเภอท่าหลวงประมาณ 12 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าตัวน้ำตกอีกประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตกวังก้านเหลืองซึ่งจะอยู่ทางขวามือ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3634 7105-6, 0 3634 7446
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
ตั้งอยู่ที่บ้านแก่งเสือเต้น ตำบลหนองบัว เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้กับเขื่อนแห่งนี้ สร้างภายใต้โครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำป่าสัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2542 เป็นเขื่อนแกนดินเหนียวที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาว 4,860 เมตร ความสูงที่จุดสูงสุด 36.50 เมตร จุดเด่นที่น่าสนใจภายในเขื่อน ได้แก่ จุดชมวิวสันเขื่อนพิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งแสดงความรู้ด้านธรรมชาติ และวัฒนธรรม ร้านจำหน่ายของที่ระลึกของชาวบ้าน เช่น ผลิตภัณฑ์จากเมล็ดทานตะวัน น้ำผึ้ง ไข่เค็มดินสอพองในวันหยุดมีรถรางวิ่งพาชมทัศนียภาพบริเวณเขื่อนสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทร.036-494031-4 ทุ่งทานตะวัน
จังหวัดลพบุรี มีการปลูกทานตะวันมากที่สุดในประเทศไทย คือ ประมาณ 200,000300,000 ไร่ ดอกทานตะวันจะบานสะพรั่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน มกราคม ทานตะวันเป็นพืชทนแล้ง เกษตรกรนิยมปลูกแทนข้าวโพด เมล็ดทานตะวันมีคุณค่าทางโภชนาการ นิยมใช้สกัดทำน้ำมันปรุงอาหาร หรืออบแห้ง เพื่อรับประทาน หรือใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง และยังสามารถเลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพส่งเสริมได้อีกด้วย จึงทำให้ได้ผลผลิต คือ น้ำผึ้งจากดอกทานตะวันอีกทางหนึ่ง โดยแหล่งที่ปลูกทานตะวัน จะกระจายอยู่ทั่วไปในเขตอำเภอเมือง อำเภอพัฒนานิคม อำเภอชัยบาดาล พื้นที่ที่ปลูกเป็นจำนวนมาก ได้แก่ บริเวณเขาจีนแล ใกล้วัดเวฬุวัน ตำบลโคกตูม อำเภอเมือง
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา
ตั้งอยู่ที่บ้านลังกาเชื่อม ตำบลสำสนธิ ตำบลกุดตาเพชร มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 96,875 ไร่ เป็นที่ราบอยู่ในหุบเขา ถูกกั้นด้วยเทือกเขาพังเพย ทิศตะวันตกเป็นเขารวก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 140-846 เมตร ความสำคัญของพื้นที่ คือ ป่าซับลังกามีสภาพสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำลำสนธิ และแหล่งอาหารของสัตว์ป่า ปัจจุบันยังมีเลียงผา ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนอาศัยอยู่
พิพิธภัณฑ์เปิดบ้านโป่งมะนาว
อยู่ที่หมู่ 7 ตำบลห้วยขุนราม อยู่ห่างจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 26.5 กิโลเมตร เป็นแหล่งโบราณคดีมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 2,500-3,000 ปี ประมาณยุค บ้านเชียงตอนปลายมีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณถึง 13 โครงกระดูกภายในหลุมเดียวกัน นอกจากนี้ชมรมอนุรักษ์แหล่งโบราณคดี และทรัพยากรธรรมชาติบ้านโป่งมะนาว ยังได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 6 ประจำปี 2549
อ่างซับเหล็ก
อยู่ในเขตตำบลนิคมสร้างตนเอง ห่างจากศาลากลางจังหวัดลพบุรีไปทางทิศตะวันออกประมาณ 16 กิโลเมตร อ่างซับเหล็กเป็นอ่างเก็บน้ำธรรมชาติที่มีมาแต่โบราณ ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงโปรดให้ช่างชาวฝรั่งเศสและชาวอิตาเลียน เป็นผู้วางท่อส่งน้ำจากอ่างซับเหล็ก นำมาใช้ในเขตพระราชฐาน
สวนสัตว์ลพบุรี
ตั้งอยู่หลัง โรงภาพยนตร์ทหารบกห่างจากวงเวียนสระแก้วไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1 กิโลเมตร สวนสัตว์แห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2483 สมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นได้มุ่งพัฒนาเมืองลพบุรีให้เป็นเมืองสำคัญ โดยได้ก่อสร้างสิ่งต่างๆ มากมายรวมทั้งสวนสัตว์แห่งนี้ด้วย ต่อมาเมื่อสิ้นยุคสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม สวนสัตว์ก็พลอยถูกทอดทิ้งและร้างไปในที่สุด
ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ศูนย์สงครามพิเศษ ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งชมรม สโมสร พ่อค้า ประชาชน ดำเนินการปรับปรุงบูรณะสวนสัตว์ขึ้นใหม่ ให้เป็นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจและเป็นแหล่งสำหรับศึกษาหาความรู้ ในเรื่องสัตว์และพืชนับเป็นสวนสัตว์ที่มีความสมบูรณ์พอสมควร แก่การบริการประชาชนในท้องถิ่น สวนสัตว์แห่งนี้เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00 น.-17.30 น. ค่าผ่านประตู ผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท รถยนต์ 10 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3641 3551
แหล่งที่มา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
โรงแรมป่าสัก ฮิลล์ ไซด์ รีสอร์ท  Pasak Hillside
สถานที่ตั้ง: 11 หมู่ 1 ต.ลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล ลพบุรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น