วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2555

ปราสาทเมืองที Prasat Mueang Thi


ปราสาทเมืองที Prasat Mueang Thi

ผมเองเป็นคนจังหวัดสมุทรปราการ แต่ได้ภรรยาคนจังหวัดสุรินทร์ อยู่บ้านเมืองที เป็นเขยบ้านเมืองทีมามากกว่า 25 ปี เมื่อก่อนแถวบ้านเมืองที ถือได้ว่า เป็นถิ่นกันดารและไกลปืนเที่ยง บริเวณหมู่บ้านจะเป็นเนิน มีแต่ป่าไผ่ คนสมัยก่อนจะปลูกต้นไผ่เป็นรั้วล้อมรอบ และมากไปด้วยเสียงร่ำลือว่า มีคนเล่นของเยอะ จึงนิยมนำต้นไผ่มาทำรั้วบ้านเพื่อเป็นการป้องกันคุณไสย  ปัจจุบันความเจริญเข้ามาแทนที่  ความลึกลับต่างๆจึงได้สูญหายไป 
หมู่บ้านเมืองที ตามประวัติศาสตร์แล้ว เคยเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์มาก่อน หลวงสุรินภักดี(เชียงปุม) ซึ่งเดิมเป็นหัวหน้าหมู่บ้านเมืองที ได้ขอให้เจ้าเมืองพิมาย กราบบังคมทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้า จากพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ย้ายหมู่บ้านจากบ้านเมืองทีมาอยู่ที่บริเวณบ้านคูประทาย ซึ่งก็คือบริเวณที่ตั้งของจังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบันเนื่องจากเห็นว่าบริเวณดังกล่าวเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมอย่างยิ่งมีกำแพงล้อมรอบถึง 2 ชั้น มีน้ำอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ต่อมาหลวงสุรินทร์ภักดีได้กระทำความดีความชอบเป็นที่โปรดปราน จึงได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกบ้านคูประทายเป็น" เมืองประทายสมันต์ " และเลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงสุรินทร์ภักดีเป็น พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ในปี พุทรศักราช 2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ " เมืองประทายสมันต์ " เป็น " เมืองสุรินทร์ " ตามบรรดาศักดิ์ของเจาเมือง
ปราสาทเมืองที ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเมืองที หมู่ที่ 1 ตำบลเมืองที อ.เมือง จ. สุรินทร์ ปราสาทตั้งอยู่ภายในวัดจอมสุทธาวาส (วัดมืองที) ปราสาทเมืองทีเป็นปราสาทแบบเขมรแห่งหนึ่งที่ได้รับการดัดแปลงในสมัยหลัง เช่นเดียวกับปราสาทศรีขรภูมิ อ.ศรีขรภูมิ ปราสาทก่อด้วยอิฐ ฉาบปูน มี 5 หลัง สร้างรวมกันเป็นหมู่ คือ หลังหนึ่งอยู่ตรงกลาง และอีกสี่หลังอยู่ที่มุมทั้งสี่ ตั้งอยู่บนฐานอิฐอันเดียวกัน ปัจจุบันหักพังเหลือเพียง 3 หลัง คือ หลังกลาง หลังที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปรางค์ทั้งสามมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง หลังกลางมีขนาดใหญ่สุด ตั้งอยู่บนฐานสูง และมีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน แต่ตัวเรือนธาตุตันทึบ ไม่มีประตูเนื่องจากการดัดแปลงในชั้นหลัง ส่วนหลังคาทำเป็นชั้นมี 3 ชั้น เลียนแบบตัวเรือนธาตุ ส่วนยอดบนหักหาย
ปรางค์บริวารที่เหลือ 2 องค์นั้น มีขนาดและลักษณะเดียวกัน ทรงสอบมี 3 ชั้น ตัวเรือนธาตุแต่เดิมมีประตู มาก่อทึบในสมัยหลังเช่นเดียวกับปรางค์หลังกลาง จากแผนผังและลักษณะของสถาปัตยกรรม ปราสาทเมืองทีนับเป็นโบราณสถานเขมรอีกแบบหนึ่งที่นิยมสร้าง คือ มีปราสาทหลังกลางเทียบเท่าเขาพระสุเมค มีปรางค์มุมทั้งสี่ตามความเชื่อในลัทธิศาสนาหราหมณ์ แต่จะสร้างขึ้นเมื่อใดไม่อาจบอกได้ ด้วยไม่พบจารึกหรือลวดลายทางศิลปะที่สามารถเปรียบเทียบได้
การเดินทาง
การเดินทาง จากตัวเมืองประมาณ 16 กิโลเมตร ตามเส้นทางสุรินทร์-ศรีขรภูมิ ทางหลวงหมายเลข 226 จนถึงป้ายบอกทางเข้าบ้านเมืองที เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 400 เมตร จะเห็นซุ้มประตูวัดจอมสุทธาวาส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น