วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประเพณีลอยกระทงไทย



ประเพณีลอยกระทง
ประวัติความเป็นมา
ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีโบราณของไทย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าทำกันมาตั้งแต่เมื่อไร เท่าที่ปรากฎกล่าวได้ว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีเดียวเห็นจะเป็นพิธีของพราหมณ์กระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้ถือตามแนวทางพระพุทธศาสนา มีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา
                ในสมัยสุโขทัย นางนพมาศ พระสนมของพระร่วงได้คิดทำกระทงถวายเป็นรูปดอกบัวและรูปต่างๆ ให้ทรงลอยตามสายน้ำไหล พระร่วงเจ้าทรงพอพระราชหฤทัยกระทงดอกบัวของนางนพมาศมาก จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง ดังปรากฏในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์กล่าวถึงพระดำรัสของพระร่วงว่าตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการะบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน" ด้วยเหตุนี้โคมลอยรูปดอกบัวจึงปรากฏมาจนทุกวันนี้ แต่เรียกเปลี่ยนชื่อว่า ลอยกระทงประทีปในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จประทับเรือพระที่นั่งไปถวายดอกไม้เพลิงบูชาพระรัตนตรัยทุกพระอารามหลวงที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำแล้วทอดพระเนตรการขับร้องประโคมดนตรีของประชาชน พระราชพิธีลอยกระทงในครั้งนั้นทำเป็นการใหญ่สนุกสนานมาก

                ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศ พระเจ้าแผ่นดินลังกาได้ส่งราชทูตที่เข้ามาก็ได้ชมพิธีลอยกระทง ตามจดหมายราชทูตลังกาว่า ก่อนอรุณ มีข้าราชการไทยสองคนลงมาบอกราชทูตานุทูตว่า ในค่ำวันนี้จะมีกระบวนแห่สมเด็จพระราชดำเนินตามชลมารคในการพระราชพิธีฝ่าย ศาสนากระบวนเสด็จผ่านที่พักราชทูตมา กระบวนพิธีมรามูตานุทูตได้เห็นมีดังนี้ ตามบรรดาริมน้ำทั้งสองฟากทุกวัด ต่างปักไม้ไผ่ลำยาวขึ้นเป็นเสาโน้มไม้ลงมาผูกเชือกชักโคมต่างๆ ครั้นได้เวลาพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จโดยกระบวนเรือ พร้อมด้วยกรมพระราชวังบวรสถานมงคลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และเจ้ามหาพระยามหาอุปราช เรือที่เสด็จล้วนปิดทอง มีกันยาดาดสีและผูกม่านในลำเรือปักเชิงทองซองเงิน มีเทียนจุดตลอดลำ มีเรือข้าราชการล้วนแต่งประทีปนำเสด็จด้วยเป็นอันมาก ในการพระราชพิธีนี้ยังมีกระดาษทำเป็นรูปดอกบัวสีแดงบ้าง สีขาวบ้าง มีเทียนจุดอยู่ในนั้นปล่อยลอยตามน้ำลงมาเป็นอันมาก และมีระบำดนตรีเล่นมาในเรือนั้นด้วย

            ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พิธีนี้นิยมทำกันเป็นการใหญ่มีหลักฐานปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งพระเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) กล่าวไว้ว่า ครั้นมาถึงเดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ แรมหนึ่ง พิธีจองเปรียงนั้น เดิมได้โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ฝ่ายหน้าในและข้าราชการที่มีกำลังพาหนะมากทำกระทงใหญ่ ผู้ถูกเกณฑ์ต่อเป็นถังบ้างเป็น บ้าง กว้างแปดศอกบ้าง เก้าศอกบ้าง กระทงสูงตลอด 10 ศอก 11 ศอก ทำประกวดประชันกันต่างๆ ทำอย่างเขาพระสุเมรุทวีปทั้ง 4 บ้าง และทำเป็นกระจาดชั้นๆ บ้าง วิจิตรไปด้วยเครื่องสด คนทำก็นับร้อยคิดในการลงทุนกระทงทั้งค่าเลี้ยงคนและพระช่างเบ็ดเสร็จก็ถึง 20 ชั่ง ย่อมกว่า20 ชั่งบ้าง กระทงนั้น วัน 14 ค่ำ เครื่องเขียว 15 ค่ำ เครื่องขาว วันแรมค่ำหนึ่ง เครื่องแดง ดอกไม้สดก็เลือกตามสีกระทง และมีจักรกลไกลต่างกันทุกกระทง มีมโหรีขับร้องอยู่ในกระทงนั้นก็มีบ้าง เหลือที่จะพรรณาว่ากระทงนั้น ผู้นั้นทำอย่างนั้นๆ คิดดูการประกวดประชันจะเอาชนะกัน คงวิเศษต่างๆ กัน เรือมาดูกระทงตั้งแต่บ่าย 4 โมง เรือชักลากกระทงขึ้นไปเข้าที่ตั้งแต่บ่าย 4 โมง เรือเบียดเสียดสับสนกันหลีกไม่ค่อยไหวเป็นอัศจรรย์เรือข้าราชการและราษฏรมาดูกันเต็มไปทั้งแม่น้ำ เวลาค่ำเสด็จพระตำหนักน้ำทรงลอยประทีป การทำกระทงใหญ่ในลักษณะดังกล่าวนี้ น่าจะมาแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 ครั้งมาถึง
                รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง จึงโปรดให้ยกเลิกเสียและโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ทำเรือลอยประทีป แทนกระทงใหญ่ถวายองค์ละลำเรียกว่า เรือลอยประทีปต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้อีก
                ในปัจจุบัน การลอยประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย แต่พิธีของชาวบ้านยังทำกันอยู่เป็นประจำ

วัตถุประสงค์
1. เพื่อบูชารอยพระบาทที่ประดิษฐ์ ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา อันเป็นการเจริญพุทธานุสติรำลึกถึงคุณค่า พระพุทธเจ้าเช่นเดียวกับที่ผู้นับถือศาสนาพราหมณ์   บูชาพระผู้เป็นเจ้าของเขา
2. เพื่อแสดงความสำนึกคุณของน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ อันเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิต ซึ่งสมมุติเป็นแม่พระคงคาและขอขมาลาโทษที่อาจทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้แหล่งน้ำนั้นๆ ไม่สะอาด การสำนึกคุณและขออภัยถือเป็นวัฒนธรรมอันดีงามอย่างหนึ่งของไทย
3. เพื่อความรื่นเริงบันเทิงใจและสังสรรค์กันระหว่างผู้ไปร่วมงาน เพราะเดือน 12 เป็นฤดูกาล ที่น้ำเต็มฝั่งเมื่อถึงวันพระจันทร์ เพ็ญจะแลดูงดงามมาก จึงมีลอยกระทงซึ่งทำให้เกิดแสงวอมแวมชวนให้ชื่นชมในการลอยกระทงนั้นบางคนก็จะอธิฐานขอสิ่งที่ตนปรารถนาหรือเสี่ยงทายเกี่ยวกับชีวิตของตนตามอัธยาศัย
4. เพื่อส่งเสริมงานช่างฝีมือในการประดิษฐ์กระทงด้วยใบตอง กาบกล้วยหรือวัสดุพื้นบ้านต่างๆ มีการประกวดกระทงส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์และงานฝีมือ
5. เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคือ แหล่งน้ำให้ปราศจากมลภาวะ โดยตักเตือนกันมิให้มักง่ายทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ
6. เพื่อธำรงส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีไทย และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวนำรายได้มาสู่ประเทศชาติไปในขณะเดียวกัน
ในวันลอยกระทง ผู้คนจะพากันทำ "กระทง" จากวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตบแต่งเป็นรูปคล้ายดอกบัวบาน ปักธูปเทียน และนิยมตัดเล็บ เส้นผม หรือใส่เหรียญกษาปณ์ลงไปในกระทง แล้วนำไปลอยในสายน้ำ (ในพื้นที่ติดทะเล ก็นิยมลอยกระทงริมฝั่งทะเล) เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ไป นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการลอยกระทง เป็นการบูชาและขอขมาพระแม่คงคาด้วย
               
ภาคเหนือ
จังหวัดเชียงใหม่ มีประเพณี"ยี่เป็ง"เชียงใหม่ ในทุกๆปีจะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา และมีการปล่อยโคมลอยขึ้นเต็มท้องฟ้า นิยมทำโคมลอย เรียกว่า "ลอยโคม" หรือ "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" ทำจากผ้าบางๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศอย่างบัลลูน ประเพณีของชาวเหนือนี้เรียกว่า ยี่เป็ง หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่(ซึ่งนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย)
"ประเพณียี่เป็ง" คือ ประเพณีในเทศกาลวันเพ็ญ เดือน ๑๒ เป็นงานประเพณี อันยิ่งใหญ่แห่งดินแดนล้านนา ที่ได้ปฎิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล "ยี่เป็ง" หรือวันเพ็ญเดือนยี่ของชาวล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 ของภาคกลาง อันเป็นช่วงปลายฤดูฝน ต้นฤดูหนาว อากาศปลอดโปร่งท้องฟ้าแจ่มใส ธรรมเนียมปฎิบัติของชาวล้านนาอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการลอยกระทงในแม่น้ำก็คือ การจุดประทีปโคมลอยขึ้นไปสว่างไสวบนท้องฟ้า โดยมีคติความเชื่อว่า เพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณี บนสรวงสวรรค์ หรือบ้างก็เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ หรือสะเดาะเคราะห์ ให้เกิดความเป็นมงคลแก่ชีวิต
ภาคอีสาน
                ในอดีตมีการเรียกประเพณีลอยกระทงในภาคอีสานว่า สิบสองเพ็ง หมายถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองซึ่งจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป

ภาคกลาง มีการจัดประเพณีลอยกระทงขึ้นทั่วทุกจังหวัด
กรุงเทพมหานคร จะมีงานภูเขาทอง เป็นรูปแบบงานวัด เฉลิมฉลองราว 7-10 วัน ก่อนงานลอยกระทง และจบลงในช่วงหลังวันลอยกระทง
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการจัดงานประเพณีลอยกระทงกรุงเก่าขึ้นอย่างยิ่งใหญ่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ภายในงานมีการจัดแสดงแสง สี เสียง อย่างงดงามตระการตา
ภาคใต้
อย่างที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนั้น ในจังหวัดอื่นๆ ก็จะจัดงานวันลอยกระทงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ในแต่ละท้องถิ่นยังอาจมีประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างกันไป และสืบทอดต่อกันเรื่อยมาความเชื่อเกี่ยวกับวันลอยกระทง
จากวิกิพีเดียสารานุกรมเสรี
      ประเพณีลอยกระทงที่วัดบางโฉลงนอก
              ปีนี้จัดงานใหญ่โตมโหฬารมาก  คลื่นมหาชนต่างหลั่งไหลกันมาเที่ยวงานกันอย่างหนาแน่น  จนบริเวณลานวัดมองดูแคบลงไปถนัดตา     ยังดีนะครับที่สถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิและสถานีต่างๆยังเข้าใจความรู้สึกของประชาชน ที่ปรับระดับน้ำให้ปริ่มตลิ่งเพื่อให้ประชาชนสามารถลอยกระทงได้  เพราะก่อนหน้านี้ปริมาณในลำคลองสำโรง  คลองบางโฉลง และคลองต่างๆที่เชื่อมโยงถึงกันถูกสูบจนจะแห้งคลองหมด เพื่อรองรับมวลน้ำที่จะมาจากกรุงเทพ
แต่น้ำไม่มาสักที  ชาวบ้านละแวกนี้บอกว่าจะฟ้องร้องกรมชลประทาน  ฐานสูบน้ำจนไม่มีน้ำจะลอยกระทง 


      เป็นบริเวณหน้าวัดบางโฉลงนอกริมคลองสำโรง  ปลาสวายเยอะมาก  ทางวัดเองก็เกรงว่าน้ำจะท่วมกลัวประชาชนลำบากอุตส่าทำสะพานไม้ไว้ตลอดริมคลองหน้าวัด  ถ้าใครใจบุญสามารถซื้อขนมปังหรืออาหารปลา  เพื่อทำบุญให้อาหารปลามีบริการทุกวัน
วัดบางโฉลงนอกมีพระประทานที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ หลวงพ่อขาว



ลอดท้องช้างสะเดาะเคราะห์

ศรเพชร  ศรสุพรรณ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น