วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

วัดมหาธาตุ อยุธยา Wat Maha That Ayutthaya

วัดมหาธาตุ อยุธยา Wat Maha That  Ayutthaya
วัดมหาธาตุ พระนครศรีอยุธยา  เป็นหนึ่งในวัดที่อยู่ในเขต อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ริมบึงพระรามด้านตะวันออก  หรืออยู่ใกล้กับวัดราชบูรณะ  เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้นเป็นพระอารามหลวง  เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ที่แสดงความชอบธรรมทั้งทางโลก (ราชอาณาจักร)และทางธรรม ( ศาสนาจักร)   ตามธรรมเนียมของการสร้างวัดมหาธาตุที่เริ่มขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราชก่อน แล้วเป็นตัวอย่างแก่อาณาจักรอื่นต่อมา เช่น เชียงใหม่  หริภุญชัย  ลำปาง  ศรีสัชนาลัย  พิษณุโลก  ละโว้  นครพนม  สุพรรณบุรี  นครปฐม  เพชรบุรี  และไชยา


พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  ฉบับหลวงประเสริฐ  กล่าวว่า  สถาปนาวัดมหาธาตุ เมื่อ พ.ศ. 1917  ในรัชสมัย  สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1  (ขุนหลวงพระงั่ว) คงสร้างไม่เสร็จ  ต่อมาสมเด็จพระราเมศวร ทรงศิล ณ. พระราชวังเดิม ( วัดพระศรีสรรเพชญ์)   เพลา 10 ทุ่ม  ทรงทอดพระเนตรไปทางทิศบูรพา ทรงเห็นพระบรมสารีริกธาตุเปล่งแสงสว่างลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า ชั่วอึดใจ แล้วก็หายไปในความมืด จึงโปรดให้สร้างพระปรางค์มหาธาตุบริเวณที่ทรงอดพระเนตร  สูง 38 เมตร  เป็นศูนย์กลางของเมือง และยังเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช (เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายคามวาสี)
วัดมหาธาตุ มีพระปรางค์บริวารรวม 5 องค์  ตรงกลางเป็นปรางค์ประธาน มียอดนพศูลสูง 6 เมตร  มีพระปรางค์ทิศทั้ง 4 องค์  ที่บันไดถึงซุ้มองค์พระมหาธาตุหลังพนักบันได มีนาคราชตัวโตเท่าลำตาลเลื้อยลงมาแผ่พังพอน ตรงบัลลังก์ทั้ง 4 มุม  มีรูปครุฑ  จตุโลกบาล  โทวาริก  รากษส  พิราวะ  และยักษ์
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ( พ.ศ. 2153 – 2171 )   พระปรางค์ประธาน ได้พังลงมาถึงชั้นครุฑ  ต่อมาได้บูรณปฏิสังขรณ์ อีก ครั้ง   ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2176  และสมัยพระบรมโกศ เมื่อ พ.ศ.2275 – 2301 
พ.ศ. 2309  สมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์  ได้ตั้งศพไว้ที่วัดมหาธาตุ  ยังไม่ทันปลงศพ ได้อัญเชิญ พระเทพมุนี วัดกุฏิดาว  เป็นพระสังฆราชอยู่ได้ 7 เดือน ก็สิ้นพระชนม์อีก  ได้ตั้งศพคู่กัน  ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะถูกพม่าตีแตกไม่นาน  มีอีกา 2 ตัว  ตีกันแล้วบินถลาลงถูกยอดเจดีย์เสียบอกตาย  ลือกันว่าจะเกิดลางร้าย
สมัยรัชกาลที่ 3  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อัญเชิญ  พระพุทธรูปคันธารราฐประทับนั่งห้อยพระบาทไปประดิษฐาน ณ. วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  จนถึงทุกวันนี้
วันที่  20 – 25 สิงหาคม พ.ศ. 2499  กรมศิลปากรได้ขุดกรุพบเครื่องทองและพระบรมสารีริกธาตุ  จำนวน  22  รายการ ( 66 ชิ้น ) สิ่งของดังกล่าวได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา อยุธยา
เศียรพระพุทธรูปหินทราย เป็นพระพุทธรูปหินทรายเหลือแต่ส่วนเศียร  สำหรับองค์พระนั้นหายไป เป็นเศียรพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา วางอยู่ในรากต้นโพธิ์ข้างวิหารราย

                ปัจจุบันวัดมหาธาตุได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ เศียรพระพุทธรูปหินทราย ที่ถูกห่อหุ้มด้วยรากของต้นโพธิ์ ภายในวัดมหาธาตุ เป็นที่ทอปฮีตติดเว็บ ดังระดับโลก (Tripadvisor ) ซึ่งเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของยูเนสโก http://whc.unesco.org/en/list/576  เมื่อปี พ.ศ. 2553  เป็นต้นมา  ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่างหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวชม  เนื่องจากเป็นสิ่งที่แปลกตา จึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และเศียรพระพุทธรูปหินทรายกลายเป็นที่นิยมถ่ายภาพของนักท่องเที่ยว  ถือว่าเป็นอันซีนอินไทยแลนด์  เมื่อก่อนหน้านี้ผมเองก็คิดว่าภาพพระพุทธรูปหินทรายนี้เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย มาทราบทีหลังว่าเป็นสมบัติล้ำค่าของไทยเรานี่เอง ทั้งนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปสำรวจที่ อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา ณ. วัดมหาธาตุ  อยู่ข้างๆ กับวัดราชบูรณะ และได้พยายามหาข้อมูลของเศียรพระพุทธรูปหินทรายในรากต้นโพธิ์  ซึ่งในช่วงก่อนที่อยุธยาจะได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของกรมศิลปกร  ในปีค.ศ. 1963 ทางจังหวัดได้มีการเตรียมสถานที่เพื่อการสำรวจ  จากการถากถางปรับพื้นที่ได้พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินสลักจำนวนหนึ่ง จึงเก็บรวบรวมไว้โคนต้นไม้ แล้วพยายามหาที่มาที่ไป โดยรวบรวมปะติดปะต่อเป็นองค์ได้บ้าง มีแต่เศียรพระองค์นี้ที่หาที่มาไม่ได้เพราะขนาดไม่พอดีกับชิ้นส่วนอื่นที่พบ จึงหาที่เหมาะสมวางไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินผ่านไปมาของผู้คนที่มาชมสถานที่ ซึ่งเป็นสิ่งไม่งามสำหรับชาวพุทธ อนึ่งในบริเวณนี้ส่วนมากจะเป็นต้นพุทรา ต้นโพธิ์จึงเป็นสถานที่เหมาะสมที่สุด เพราะประวัติของพระพุทธเจ้าท่านยังตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์  ด้วยเจตนาเดิมคือเพียงเพื่อพักรอการหาที่เหมาะสมกว่า หลังจากการขึ้นทะเบียนเมื่อปี 1965 ก็ไม่มีใครคิดจะย้ายเศียรนี้อีก จนรากโพธิ์เริ่มโอบล้อมเศียรพระพุทธรูปแรกๆ ก็พอขยับได้ นานนานวันเข้าก็ยิ่งแน่นจนไม่สามารถขยับได้
แหล่งที่มา : หนังสือกรุงศรีอยุธยา ราชธานีไทย เล่ม 3
การเดินทางไปวัดมหาธาตุ อยุธยา
1. โดยรถยนต์ส่วนตัว
จากกรุงเทพฯ วิ่งเข้าเส้นทางตัวเมืองอยุธยาผ่านวงเวียนเจดีย์ ( ขวามือจะไป ตลาดน้ำอโยธยา ซ้ายมือไปวัดใหญ่ชัยมงคล ) ให้ตรงไป แล้วข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตรงไปจนถึงสี่แยกไฟ แดงที่ 2 เลี้ยวขวาตรงไปไม่ไกลนัก ผ่านบึงพระราม จะเห็นวัดมหาธาตุอยู่ทางซ้ายมือ เปิดให้เข้าชมทุก วันตั้งแต่เวลา 08.3016.30 น. หมายเหตุ ตั้งแต่ เวลาประมาณ 19.30น.-21.00น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน
2. โดยรถสาธารณะ
จากสถานีหมอชิตใหม่ มีบริการรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยาทุกวัน วันละ หลายเที่ยว ทั้งรถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 กรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา และรถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 กรุงเทพฯ-ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร-พระนครศรีอยุธยา สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2936 2852-66 หรือที่เว็บไซต์ www.transport.co.th หรือรถตู้โดยสารจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต นั่งรถมาลงสุดสายจาก นั้นต่อรถมอเตอร์ไซต์รับจ้างหรือรถท้องถิ่นประจำทางไปยังวัดมหาธาตุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น