วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555

ตลาดน้ำอโยธยาตอนสาม

ตลาดน้ำอโยธยาตอนสาม 
อีกหนึ่ง Trip ที่ได้พาครอบครัวและเพื่อนๆ รวมทั้ง Mr. Lino ชาวอิตาลี่ มาเที่ยวชม
ตลาดน้ำอโยธยาแห่งนี้ ซึ่งก็เป็นที่ชื่นชอบของทุกๆ คน
Mr.Lino ชอบปลาช่อนย่างเกลือ
ติดค้างกันเสียนานว่าจะนำเสนอตลาดน้ำอโยธยาตอนสาม  วันนี้ขอเสนอตลาดน้ำอโยธยาตอนสาม ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย ที่จริงแล้วผมเองก็อยากเขียนตอนเดียวให้จบๆ ไป แต่บังเอิญผมเป็นคนคลั่งไคล้ตลาดน้ำโบราณ  ของโบราณ  บ้านโบราณ  เคยท่องเที่ยวตลาดน้ำมาหลายแห่ง  มีความประทับใจที่สุดก็ที่ตลาดน้ำอโยธยานี่แหละ  โดยเฉพาะอยุธยานั้นเคยเป็นเมืองหลวงของไทยเรา และมีประวัติที่ยาวนาน ไม่มีคนไทยคนไหนไม่รู้จักกรุงศรีอยุธยา  ตลาดน้ำอโยธยา ปัจจุบันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นแรงดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวหลงใหลในบรรยากาศ อาทิที่  หมู่บ้านปางช้างอโยธยา




หลังจากพักกินข้าวเที่ยวเสร็จไปนั่งให้กระเพาะย่อยที่ลานแสดงศิลปะวัฒนธรร







หมู่บ้านปางช้างอโยธยา Ayothaya Elephant Village
หมู่บ้านปางช้างอโยธยา ตั้งอยู่ที่ 65/12 หมู่ 7 ตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา    บริการนั่งเกวียนเทียมวัวชมโบราณสถาน  และการแสดงโชว์งูทุกวัน เวลา 08.00-17.00น.    ครั้งหนึ่งในชีวิตกับประสบการณ์ครั้งสำคัญ... ที่คุณจะได้มีโอกาสนั่งบนหลังช้างลุยน้ำ และชื่นชมธรรมชาติในบรรยากาศแบบกรุงเก่า  ชมโบราณสถานและโบราณวัตถุ เข้าป่า ชมนกป่าหลากหลายชนิด  ชมโบราณสถาน ไหว้พระวัดมเหยงคณ์ ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองอยุธยามากว่า  600 ปี  ที่เดียวเท่านั้นที่คุณจะได้ร่วมผจญภัย และเพลิดเพลินไปกับประสบการณ์อันทรงคุณค่าอย่างแท้จริง... สอบถามข้อมูลโทร. 0-3588-1678 โทรสาร 0-35881699
นอกจากนี้คุณจะได้ชมความน่ารักของเสือ  สัมผัสความประทับใจด้วยตัวคุณเองสนุกสนานกับการหยอกล้อถ่ายรูป และชมการแสดงของเสือ
วัดมเหยงคณ์ อยุธยา
วัดมเหยงคณ์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นมีความเจริญรุ่งเรืองและมีความสำคัญ และเป็นพระอารามหลวง ปัจจุบันกลายเป็นวัดร้างไป ภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตก และถูกพม่าเผาวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ วัดนี้ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ ๕ ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่นอกเขตเมืองมาทางทิศตะวันออก
ตลาดนานาชาติอโยเดีย
ตลาดนานาชาติอโยเดีย   ตลาดโยเดียจำแลงมาจากสมัยที่ไทยเสียกรุงแล้วถูกพม่ากวาดต้อนไปยังหงสาวดี มีชุมชนชาวไทยเล็ก ๆ  ที่ชาวพม่าเรียกขานกันว่า โยเดียมาจากคำว่า อโยธยา นั่นเอง  ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดอยุธยาตั้งอยู่บริเวณเดียวกับตลาดน้ำอโยธยา
ตลาดนานาชาติอโยเดีย   เป็นตลาดอินเทรน ตกแต่งสวยงาม  ด้านหน้าตลาดจะมีแกะให้นักท่องเที่ยวได้ให้อาหารเลี้ยงแกะ ส่วนในเรื่องของสินค้าที่วางจำหน่ายนั้น ตลาดนานาชาติอโยเดียจะมีสีสัดที่สดใส   ส่วนตลาดน้ำอโยธยานั้น  เป็นแนวย้อนยุค  ดังนั้นใครชอบแนวไหนเลือกซื้อเลือกหาได้ตามใจชอบ

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

วัดมหาธาตุ อยุธยา Wat Maha That Ayutthaya

วัดมหาธาตุ อยุธยา Wat Maha That  Ayutthaya
วัดมหาธาตุ พระนครศรีอยุธยา  เป็นหนึ่งในวัดที่อยู่ในเขต อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ริมบึงพระรามด้านตะวันออก  หรืออยู่ใกล้กับวัดราชบูรณะ  เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้นเป็นพระอารามหลวง  เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ที่แสดงความชอบธรรมทั้งทางโลก (ราชอาณาจักร)และทางธรรม ( ศาสนาจักร)   ตามธรรมเนียมของการสร้างวัดมหาธาตุที่เริ่มขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราชก่อน แล้วเป็นตัวอย่างแก่อาณาจักรอื่นต่อมา เช่น เชียงใหม่  หริภุญชัย  ลำปาง  ศรีสัชนาลัย  พิษณุโลก  ละโว้  นครพนม  สุพรรณบุรี  นครปฐม  เพชรบุรี  และไชยา


พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  ฉบับหลวงประเสริฐ  กล่าวว่า  สถาปนาวัดมหาธาตุ เมื่อ พ.ศ. 1917  ในรัชสมัย  สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1  (ขุนหลวงพระงั่ว) คงสร้างไม่เสร็จ  ต่อมาสมเด็จพระราเมศวร ทรงศิล ณ. พระราชวังเดิม ( วัดพระศรีสรรเพชญ์)   เพลา 10 ทุ่ม  ทรงทอดพระเนตรไปทางทิศบูรพา ทรงเห็นพระบรมสารีริกธาตุเปล่งแสงสว่างลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า ชั่วอึดใจ แล้วก็หายไปในความมืด จึงโปรดให้สร้างพระปรางค์มหาธาตุบริเวณที่ทรงอดพระเนตร  สูง 38 เมตร  เป็นศูนย์กลางของเมือง และยังเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช (เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายคามวาสี)
วัดมหาธาตุ มีพระปรางค์บริวารรวม 5 องค์  ตรงกลางเป็นปรางค์ประธาน มียอดนพศูลสูง 6 เมตร  มีพระปรางค์ทิศทั้ง 4 องค์  ที่บันไดถึงซุ้มองค์พระมหาธาตุหลังพนักบันได มีนาคราชตัวโตเท่าลำตาลเลื้อยลงมาแผ่พังพอน ตรงบัลลังก์ทั้ง 4 มุม  มีรูปครุฑ  จตุโลกบาล  โทวาริก  รากษส  พิราวะ  และยักษ์
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ( พ.ศ. 2153 – 2171 )   พระปรางค์ประธาน ได้พังลงมาถึงชั้นครุฑ  ต่อมาได้บูรณปฏิสังขรณ์ อีก ครั้ง   ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2176  และสมัยพระบรมโกศ เมื่อ พ.ศ.2275 – 2301 
พ.ศ. 2309  สมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์  ได้ตั้งศพไว้ที่วัดมหาธาตุ  ยังไม่ทันปลงศพ ได้อัญเชิญ พระเทพมุนี วัดกุฏิดาว  เป็นพระสังฆราชอยู่ได้ 7 เดือน ก็สิ้นพระชนม์อีก  ได้ตั้งศพคู่กัน  ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะถูกพม่าตีแตกไม่นาน  มีอีกา 2 ตัว  ตีกันแล้วบินถลาลงถูกยอดเจดีย์เสียบอกตาย  ลือกันว่าจะเกิดลางร้าย
สมัยรัชกาลที่ 3  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อัญเชิญ  พระพุทธรูปคันธารราฐประทับนั่งห้อยพระบาทไปประดิษฐาน ณ. วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  จนถึงทุกวันนี้
วันที่  20 – 25 สิงหาคม พ.ศ. 2499  กรมศิลปากรได้ขุดกรุพบเครื่องทองและพระบรมสารีริกธาตุ  จำนวน  22  รายการ ( 66 ชิ้น ) สิ่งของดังกล่าวได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา อยุธยา
เศียรพระพุทธรูปหินทราย เป็นพระพุทธรูปหินทรายเหลือแต่ส่วนเศียร  สำหรับองค์พระนั้นหายไป เป็นเศียรพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา วางอยู่ในรากต้นโพธิ์ข้างวิหารราย

                ปัจจุบันวัดมหาธาตุได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ เศียรพระพุทธรูปหินทราย ที่ถูกห่อหุ้มด้วยรากของต้นโพธิ์ ภายในวัดมหาธาตุ เป็นที่ทอปฮีตติดเว็บ ดังระดับโลก (Tripadvisor ) ซึ่งเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของยูเนสโก http://whc.unesco.org/en/list/576  เมื่อปี พ.ศ. 2553  เป็นต้นมา  ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่างหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวชม  เนื่องจากเป็นสิ่งที่แปลกตา จึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และเศียรพระพุทธรูปหินทรายกลายเป็นที่นิยมถ่ายภาพของนักท่องเที่ยว  ถือว่าเป็นอันซีนอินไทยแลนด์  เมื่อก่อนหน้านี้ผมเองก็คิดว่าภาพพระพุทธรูปหินทรายนี้เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย มาทราบทีหลังว่าเป็นสมบัติล้ำค่าของไทยเรานี่เอง ทั้งนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปสำรวจที่ อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา ณ. วัดมหาธาตุ  อยู่ข้างๆ กับวัดราชบูรณะ และได้พยายามหาข้อมูลของเศียรพระพุทธรูปหินทรายในรากต้นโพธิ์  ซึ่งในช่วงก่อนที่อยุธยาจะได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของกรมศิลปกร  ในปีค.ศ. 1963 ทางจังหวัดได้มีการเตรียมสถานที่เพื่อการสำรวจ  จากการถากถางปรับพื้นที่ได้พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินสลักจำนวนหนึ่ง จึงเก็บรวบรวมไว้โคนต้นไม้ แล้วพยายามหาที่มาที่ไป โดยรวบรวมปะติดปะต่อเป็นองค์ได้บ้าง มีแต่เศียรพระองค์นี้ที่หาที่มาไม่ได้เพราะขนาดไม่พอดีกับชิ้นส่วนอื่นที่พบ จึงหาที่เหมาะสมวางไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินผ่านไปมาของผู้คนที่มาชมสถานที่ ซึ่งเป็นสิ่งไม่งามสำหรับชาวพุทธ อนึ่งในบริเวณนี้ส่วนมากจะเป็นต้นพุทรา ต้นโพธิ์จึงเป็นสถานที่เหมาะสมที่สุด เพราะประวัติของพระพุทธเจ้าท่านยังตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์  ด้วยเจตนาเดิมคือเพียงเพื่อพักรอการหาที่เหมาะสมกว่า หลังจากการขึ้นทะเบียนเมื่อปี 1965 ก็ไม่มีใครคิดจะย้ายเศียรนี้อีก จนรากโพธิ์เริ่มโอบล้อมเศียรพระพุทธรูปแรกๆ ก็พอขยับได้ นานนานวันเข้าก็ยิ่งแน่นจนไม่สามารถขยับได้
แหล่งที่มา : หนังสือกรุงศรีอยุธยา ราชธานีไทย เล่ม 3
การเดินทางไปวัดมหาธาตุ อยุธยา
1. โดยรถยนต์ส่วนตัว
จากกรุงเทพฯ วิ่งเข้าเส้นทางตัวเมืองอยุธยาผ่านวงเวียนเจดีย์ ( ขวามือจะไป ตลาดน้ำอโยธยา ซ้ายมือไปวัดใหญ่ชัยมงคล ) ให้ตรงไป แล้วข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตรงไปจนถึงสี่แยกไฟ แดงที่ 2 เลี้ยวขวาตรงไปไม่ไกลนัก ผ่านบึงพระราม จะเห็นวัดมหาธาตุอยู่ทางซ้ายมือ เปิดให้เข้าชมทุก วันตั้งแต่เวลา 08.3016.30 น. หมายเหตุ ตั้งแต่ เวลาประมาณ 19.30น.-21.00น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน
2. โดยรถสาธารณะ
จากสถานีหมอชิตใหม่ มีบริการรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยาทุกวัน วันละ หลายเที่ยว ทั้งรถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 กรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา และรถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 กรุงเทพฯ-ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร-พระนครศรีอยุธยา สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2936 2852-66 หรือที่เว็บไซต์ www.transport.co.th หรือรถตู้โดยสารจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต นั่งรถมาลงสุดสายจาก นั้นต่อรถมอเตอร์ไซต์รับจ้างหรือรถท้องถิ่นประจำทางไปยังวัดมหาธาตุ