วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

ถนนทางขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์
         วันที่ 2 ของการท่องเที่ยวเมืองเหนือขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์  ถนนขึ้นยอดดอยอินทนนท์เป็นถนนลาดยางอย่างดี  แต่น่าเสียดายบังเอิญเป็นช่วงเทศกาลพอดี  ดังนั้นจึงมีแต่นักท่องเที่ยวหนาแน่นสังเกตุได้จากภาพ ที่การจราจรบนท้องถนนหนาแน่นไปด้วยรถยนต์นาๆชนิด  จากในภาพยังน้อยนะครับ ความเป็นจริงช่วงที่ผมเดินทางไปรถติดพอๆกับกรุงเทพเลยครับทุลักทุเลมาก อันตรายก็สูงลำพังรถติดทางราบยัง OK แต่นี่ทางไต่ระดับขึ้นสู่ยอดดอย ลองนึกภาพดูนะครับสุดแสนจะทรมานแค่ไหน รถบางคันสภาพไม่ดีจอดข้างทางหมด ทำให้ติดหนักเข้าไปอีกกว่าจะถึงยอดดอยได้ เล่นเอาใจหายใจคว่ำไปตามๆกัน ถ้าใครคิดจะขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์ ต้องตรวจสอบสภาพรถยนต์ให้ดีก่อน
          อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอดอยหล่อ อำเภอจอมทองและอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบไปด้วยภูเขาที่สูง สลับซับซ้อน  มีดอยอินทนนท์       ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทยในวันที 13 เดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2521 คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้ประกาศให้ดอยอินทนนท์เป็นอุทยานแห่งชาติ

          สภาพป่าเป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำหลายสาย และเป็นส่วนหนึ่งของต้นน้ำปิงที่ให้พลังงานไฟฟ้าที่เขื่อนภูมิพล มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกต่างๆ โดยเฉพาะน้ำตกแม่ยะ ที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดของประเทศ
           อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์     มีเนื้อที่ประมาณ 482.4ตารางกิโลเมตร หรือ 301,500 ไร่สภาพภูมิประเทศทั่วไปประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน มีดอยอินทนนท์เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด สูงจาก ระดับน้ำทะเล 2,565 เมตร ยอดเขาที่มีระดับสูงรองลงมาคือ ดอยหัวมดหลวง สูงจากระดับน้ำทะเล 2,330 เมตร ป่าอินทนนท์นี้เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำแม่กลาง แม่ป่าก่อ แม่ปอน แม่หอย แม่ยะ แม่แจ่ม แม่ขาน และเป็นส่วนหนึ่งของต้นน้ำแม่ปิงที่ให้พลังงานไฟฟ้าที่เขื่อนภูมิพล
               แต่เดิมดอยอินทนนท์มีชื่อว่า ดอยหลวงหรือ ดอยอ่างกาดอยหลวง หมายถึงภูเขาที่มีขนาดใหญ่ ส่วนที่เรียกว่าดอยอ่างกานั้น มีเรื่องเล่าว่า ห่างจากดอยอินทนนท์ไปทางทิศตะวันตก 300 เมตร มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งลักษณะเหมือนอ่างน้ำ แต่ก่อนนี้มีฝูงกาไปเล่นน้ำกันมากมาย จึงเรียกว่า อ่างกา ต่อมาจึงรวมเรียกว่า ดอยอ่างกา
     ดอยอินทนนท์นี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยซึ่งพาดผ่านจากประเทศเนปาล ภูฐาน พม่า และมาสิ้นสุดที่นี่   สิ่งที่น่าสนใจของดอยนี้ไม่เพียงแต่เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศ ด้วยความสูง 2,565 เมตร        จากระดับน้ำทะเลปานกลางเท่านั้น
           แต่สภาพภูมิประเทศและสภาพป่าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นป่าดงดิบ ป่าสน ป่าเบญจพรรณ และอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในฤดูหนาวจะมีหมอกปกคลุมเกือบทั้งวันและบางครั้งน้ำค้างยังกลายเป็นน้ำค้างแข็ง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้มีผู้มาเยือนที่นี่อย่างไม่ขาด
พืชพันธุ์และสัตว์ป่า
                   สังคมพืชในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์สามารถจำแนกออกเป็น ป่าเต็งรัง พบกระจายทั่วๆไปในพื้นที่รอบๆ อุทยานแห่งชาติในระดับความสูงจากน้ำทะเล 400-750 เมตร ตามเนินเขาหรือสันเขาที่แห้งแล้ง หรือตามด้านลาดทิศตะวันตกและทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติ ชนิดไม้ส่วนใหญ่ประกอบด้วย เต็ง รัง เหียง พลวง ก่อแพะ รกฟ้า รักใหญ่ ยอป่า มะขามป้อม ฯลฯ พืชอิงอาศัยพวกเอื้องแซะ เอื้องมะขาม เอื้องแปรงสีฟัน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีพวกมอส ไลเคน นมตำเลีย เกล็ดนาคราช ฯลฯ ส่วนพืชพื้นล่างจะเป็นไม้พุ่ม หญ้าชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญ้าคา ไม้เถา และพืชล้มลุกชนิดต่างๆ ป่าเบญจพรรณ พบกระจายอยู่ทั่วพื้นที่รอบๆ อุทยานแห่งชาติในชั้นระดับความสูง 400-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตามที่ลุ่มหรือตามแนวสองฝั่งของลำห้วย พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สัก ตะแบก ประดู่ แดง มะเกิ้ม สมอไทย กาสามปีก สลีนก กระบก ซ้อ นอกจากนี้ยังมีไผ่ชนิดต่างๆ พืชอิงอาศัย เช่น เอื้องช้างกระ เอื้องขี้หมา ส่วนพืชพื้นล่างส่วนใหญ่จะเป็นพวกไม้พุ่ม หญ้าคา หญ้าแฝก หญ้าชนิดอื่นๆ ไม้เถา และพืชล้มลุกชนิดต่างๆ
         ป่าดิบแล้ง พบกระจายเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อยในระดับความสูง 400-1,000 เมตร ตามบริเวณหุบเขา ริมลำห้วย และสบห้วยต่างๆ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยางปาย ยางแดง ยางนา ตะเคียนทอง ก่อเดือย ก่อหยุม ก่อลิ้ม ประดู่ส้ม มะไฟป่า ชมพู่น้ำ ไทรย้อย เดื่อหูกวาง พืชพื้นล่างเป็นพืชที่ชอบขึ้นในที่มีความชื้นสูง เช่น กล้วยป่า หญ้าสองปล้อง เหมือดปลาซิว ตองสาด กระชายป่า ข่าลิง ผักเป็ดไทย ออสมันด้า กูด เฟิน ปาล์ม หวายไส้ไก่ หมากป่า และเขือง เป็นต้น
                         ป่าดิบเขาตอนล่าง เป็นป่าที่พบในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,000-1,800 เมตร หรือในบริเวณตอนกลางของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกทำลายจากชาวเขาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ทำให้มีป่าที่มีอยู่เป็นป่าที่กำลังฟื้นสภาพ หรือป่ารุ่นใหม่ จะมีป่าดิบเขาดั่งเดิมเหลืออยู่บ้างเพียงเล็กน้อย สภาพโดยทั่วไปของป่าดิบเขาในพื้นที่ดอยอิทนนท์จึงมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับระบบและวิธีการฟื้นฟูของสังคมพืช ชนิดป่าที่พบที่สำคัญได้แก่ ป่าสนล้วน ป่าก่อผสมสน ป่าก่อ และป่าดิบเขาดั่งเดิม พันธุ์ไม้เด่นที่พบได้แก่ สนสามใบ สารภีดอย เหมือดคนตัวผู้ ก่อแป้น ก่อใบเลื่อม กอเตี้ย ก่อแดง ก่อตาหมูหลวง ก่อนก ทะโล้ จำปีป่า กำลังเสือโคร่ง กล้วยฤาษี นมวัวดอย ฯลฯ
          ป่าดิบเขาตอนบน ขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,800 เมตรขึ้นไป สามารถแบ่งออกได้เป็น ป่าดงดิบ-ป่าก่อชื้น ป่าดงดิบ เขตอบอุ่น และป่าพรุเขตอบอุ่น สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าที่มีต้นไม้สูงใหญ่ และหลายแห่งจะมีลักษณะของป่าดึกดำบรรพ์ พืชพื้นล่างจะไม่แน่นทึบ ทำให้ตามกิ่ง ยอด และลำต้นของไม้ในป่าจะมีมอส กล้วยไม้ เฟิน กุหลาบพันปี สำเภาแดง ขึ้นปกคลุม พันธุ์ไม้ในป่าดิบเขาหรือป่าก่อชื้นได้แก่ ก่อดาน ก่อแอบ จำปีหลวง แกง นางพญาเสือโคร่ง กะทัง นอกจากนี้ยังมีไม้พุ่มและไม้เกาะเกี่ยวเช่น คำขาว กุหลาบขาว คำแดง และยังมีต้นโพสามหาง กระโถนฤาษี เป็นต้น ในบริเวณแอ่งน้ำและรอบๆ ป่าพรุจะมีหญ้าชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่ เช่น บัวทอง พญาดง เทียน ผักหนอกดอย มะ แหลบ วาสุกรี บันดงเหลือง ต่างไก่ป่า กุง กูดขน ฯลฯ และบริเวณชายขอบป่าพรุจะมีกุหลาบพันปีสีแดง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบเฉพาะบนยอดดอยอินทนนท์เท่านั้น
           สัตว์ป่าในบริเวณอุทยานแห่งชาติที่นี้มีจำนวนลดลงไปมาก เนื่องจากถูกชาวเขาเผ่าต่างๆ ล่าเป็นอาหาร และป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยถูกถางลงมาก ทำให้สัตว์ใหญ่บางชนิดหมดไปจากป่านี้ สัตว์ที่เหลืออยู่ส่วนมากเป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กระรอก กระแตธรรมดา กระเล็นขนปลายหูสั้น อ้นเล็ก เม่นหางพวง อีเห็นข้างลาย ชะมดแผงสันหางดำ นกแซงแซวเล็กเหลือบ นกปรอดหัวสีเขม่า นกเด้าดินทุ่ง เหยี่ยว เพเรกริน ไก่ฟ้าหลังขาว นกเงือกคอแดง นกพญาไฟสีกุหลาบ กิ้งก่าหัวสีฟ้า จิ้งเหลนเรียวจุดดำ ตุ๊กแกบ้าน งูลายสอคอแดง กบห้วยสีข้างดำ เขียดหนอง อึ่งกราย คางคกเล็ก ปาดแคระฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ยังคงความสำคัญในด้านของการเป็นแหล่งของนกป่าที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นแหล่งของสัตว์ป่าที่หายาก และมีอยู่เฉพาะถิ่นอยู่หลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ หนูหญ้าดอย กระท่าง เต่าปูลู นกศิวะหางสีน้ำตาล นกปีกสั้นสีนำเงิน นกกระจิ๊ดคอสีเทา และนกกินปลีหางยาว
                 เมื่อขึ้นสู่ยอดดอยสัมผัสได้กับบรรยากาศที่แสนจะเยือกเย็น ก้อนเมฆที่เราเคยเห็นลอยอยู่บนท้องฟ้าทั่วๆ ไป ลอยเข้ามาปะทะตัวเราเลยทีเดียว  ทำให้หายเหนื่อยจากการขับรถขึ้นยอดดอยไปเลย  ที่จริงข้างบนสวยงามมากแต่ผมเหนื่อยล้าจากการขับรถ เลยไม่ได้เดินเที่ยวไปไหนมากนัก  เลยไม่ค่อยได้ภาพวิวที่สวยๆมาฝาก ส่วนมากแล้วนั่งพักใต้ต้นไม้มากกว่า เพราะแดดแรงมาก พอเข้าร่มใต้ต้นไม้อากาศที่หนาวเย็นจัดทนไม่ไหว  ต้องเดินออกมาผึ่งแดดต่อพอร้อนก็กลับเข้าไปใหม่


สถานที่ท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ 
          ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ หรืออีกชื่อว่า กม.31 ที่นี่มีเจ้าหน้าที่ไว้คอยบริการรับจองบ้านพัก และสถานที่กางเต้นท์ สำหรับบ้านพักและที่กางเต้นท์จะอยู่อีกบริเวณหนึ่ง ทางเข้าอยู่ทางด้านขวามือก่อนถึงที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 200 เมตร
น้ำตกแม่ยะ
 เป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและสวยที่สุดของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล ที่นี่สามารถกางเต้นท์พักแรมที่น้ำตกได้ โดยติดต่อขอสถานที่กางเต้นท์กับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ
น้ำตกแม่กลาง
 เป็นจุดแรกของประตูเข้าสู่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ น้ำตกจากหน้าผาสูงประมาณ 100 เมตร ไหลพวยพุ่งมาสู่โกรกเขา ซึ่งเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ มีชื่อว่า วังน้อยและวังหลวงใครไปเที่ยวช่วงฤดูฝนระวังหน่อยเพราะน้ำไหลแรง
ถ้ำบริจินดา
เป็นถ้ำขนาดใหญ่ อยู่ในเทือกเขาดอยอินทนนท์ ใกล้น้ำตกแม่กลาง ภายในถ้ำมีความลึกหลายกิโลเมตร เพดานมีหินงอกหินย้อยหรือที่ชาวเหนือเรียกว่า นมผา และมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายใน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้นมัสการ และยังมีธารหิน เมื่อมีแสงสว่างมากระทบจะเกิดประกายระยิบระยับดังกากเพชรสวยงามยิ่งนัก
น้ำตกวชิรธาร 
เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ตัวน้ำตกอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 750 เมตร ตรงข้ามมีหน้าผาสูงชัน เรียกว่า "ผาม่อนแก้ว" หรือในภายหลังเรียกว่า ผาแว่นแก้ว
น้ำตกสิริธาร 
นอกจากมีความสวยงาม ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลายชนิดรวมทั้งปลาหายาก เช่นปลาค้างคาว ป่าบริเวณนี้เป็นป่าเต็งรังผสมสนเขาและป่าดิบแล้ง นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งสมุนไพรที่สำคัญอีกด้วย
น้ำตกสิริภูมิและสวนหลวงสิริภูมิ 
เดิมเรียกว่า เลาลึ ตามชื่อของหมู่บ้านม้ง ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ ๆ น้ำตก ภายหลังเปลี่ยนชื่อตามพระนามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ปัจจุบัน มีการจัดภูมิทัศน์ สวนหลวงสิริภูมิ อยู่ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์ มีการจัดเก็บค่าเข้าชม
พระธาตุนภเมทนีดลและพระธาตุนภพลภูมิสิริ
เป็นพระธาตุที่ทางกองทัพอากาศร่วมกับพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ ร่วมใจสร้างถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา เมื่อปีพุทธศักราช 2530 และเทิดพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2535 โดยรอบบริเวณพระมหาธาตุเจดีย์ทั้ง 2 องค์ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของดอยอินทนนท์โดยรอบได้อย่างชัดเจน พระมหาธาตุทั้ง 2 องค์นี้ มีรูปทรงคล้ายคลึงกัน คือ มีฐานเป็นรูป 12 เหลี่ยม มีระเบียงแก้วโดยรอบเป็น 2 ระดับ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปบูชา
ยอดดอยอินทนนท์ 
ซึ่งน้อยคนนักจะได้สัมผัสธรรมชาติที่แท้จริงของภูเขาที่สูงที่สุดของประเทศ ที่นี่มีทั้งกล้วยไม้และพันธุ์ไม้ป่าที่สวยงามและหายาก นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานกู่พระอัฐิของพระเจ้าอินทวิชานนท์ ผู้ครองเชียงใหม่องค์ที่ 7 และเป็นที่ตั้งของสถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศไทย  ในฤดูหนาวที่ยอดดอยมีอุณหภูมิประมาณ 4 – 14 องศาเซลเซียส  

การเดินทาง
รถยนต์
           จากตัวเมืองเชียงใหม่ เดินทางโดยรถยนต์ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 (เชียงใหม่-ฮอด) ประมาณ 56 กม.ผ่านอำเภอหางดงและอำเภอสันปาตอง ไปยังอำเภอจอมทอง ก่อนถึงอำเภอจอมทองประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009 (จอมทอง-ดอยอินทนนท์) จะเริ่มเข้าเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ที่กิโลเมตรที่ 8 (น้ำตกแม่กลาง) และตัดขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์เป็นระยะทางทั้งหมด 48 กิโลเมตร ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 31


ที่พักในเชียงใหม่


ปริ๊นส์คุ้มพญา รีสอร์ทแอนด์สปา
         Khum Phaya Resort and Spa Centara Boutique Collection ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติเขตร้อนอันเขียวขจี ให้บริการห้องพักแบบไทย ๆ ที่สวยงาม ติดกับสระว่ายน้ำลากูนขนาดใหญ่ ภายในห้องพักพรั่งพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์จอแบน 32 นิ้ว บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย (Wi-Fi) ฟรี อ่างอาบน้ำแรงดันสูง เป็นต้น
       ที่พักแห่งนี้อยู่ไม่ไกลจากร้านค้าและร้านอาหารต่าง ๆ มีบริการรถรับส่งไปยังตัวเมืองเชียงใหม่และไนต์บาซาร์ โดยใช้เวลาเดินทางเพียง 10 นาที ส่วนสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ห่างจากที่พักโดยใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ 15 นาทีห้องพักที่ Khum Phaya Resort and Spa Centara Boutique Collection มีเตียงพร้อมหลังคาและมุ้งตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ไม้สักโบราณ ห้องพักเหล่านี้มีขนาดกว้างขวาง พร้อมด้วยวิวสระว่ายน้ำและสวนหย่อม อีกทั้งยังมีระเบียงส่วนตัวและพื้นที่ฝักบัวแยกเป็นสัดส่วน
            ณ ห้องอาหาร Kham Saen Restaurant มีบริการอาหารไทยและอาหารนานาชาติหลากหลายรายการตลอดทั้งวัน อีกทั้งมีบาร์ริมสระว่ายน้ำ ห้องอาหาร Northern Thai ซึ่งมีการแสดงแบบดั้งเดิมเพื่อความเพลิดเพลินของผู้เข้าพัก







อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 
สถานที่ติดต่อ : 119 หมู่7 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง เชียงใหม่ 50160
โทรศัพท์ :             053-286728 ,  053-286728 ,053-286729 , 053-286729      
โทรสาร :             053-286727 , 053-286727      

1 ความคิดเห็น:

  1. น่าเที่ยวมากๆๆๆๆๆๆๆๆเลยแต่รถเยอะไปหน่อย

    ตอบลบ