วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วัดบ้านแหลม

วัดบ้านแหลม

วัดเพชรสมุทรวรวิหาร
      วัดเพชรสมุทรวรวิหาร เดิมชื่อ วัดบ้านแหลมในอดีตชื่อ วัดศรีจำปา ตั้งอยู่ที่ ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม พระรูปหล่อหลวงพ่อบ้านแหลม วัดเพชรสมุทร เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร พระประจำวันเกิดวันพุธเวลากลางวัน หลวงพ่อบ้านแหลมเป็นพระที่สร้างในสมัยเดียวกันกับหลวงพ่อโสธร หลวงพ่อโตวัดบางพลีใหญ่  สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น 
หลวงพ่อวัดบ้านแหลม

        ภายในบริเวณวัดเพชรสมุทรยังมีพิพิธภัณฑ์สงฆ์ จัดแสดงพระพุทธรูป และพระเครื่องสมัยต่าง ๆ โบราณวัตถุ เครื่องลายคราม และธรรมมาสน์บุษบกสมัยกรุงศรีอยุธยาความเชื่อและวิธีการบูชา เชื่อกันว่าหากได้มาสักการะปิดทองคำเปลวหลวงพ่อบ้านแหลม แล้วจะช่วยเสริมอำนาจบารมีแก่ชีวิต บังเกิดแต่ความเป็นสิริมงคลสืบไป คำอธิษฐานของพรหลวงพ่อไว้จะได้สมความปรารถนาและกลับมาแก้บนหลวงพ่อด้วยการว่าจ้างคณะละครรำมารำแก้บนถวาย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการอนุรักษ์ศิลปะการเสดงละคร
           งานประจำปีปิดทองหลวงพ่อบ้านแหลม จัดให้มีขึ้นปีละ ๓ ครั้ง คือ ในวันที่ ๑๓ เดือนเมษายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับเทศกาลสงกรานต์ของชาวไทยและชาวรามัญ และครั้งที่ ๒ งานสาร์ท เดือน๑๑  (ประมาณเดือนตุลาคม) และช่วงเทศกาลตรุษจีนโดยมีครั้งละ ๗ วัน




ประวัติ
          ตามตำนานเล่ากัน หลวงพ่อบ้านแหลม มีความสัมพันธ์กับตำนานหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่มีเพิ่มเติมจำนวนพระพุทธรูปจาก 3 องค์ เป็น 5 องค์ กล่าวคือ มีเรื่องเล่ากันมาว่า มีพระพุทธรูป 5 องค์ ลอยน้ำมาจากเมืองเหนือ เมื่อมาถึงภาคกลางก็ได้แยกย้ายกันไปประดิษฐานอยู่ตามจังหวัดต่างๆ รวม 5 จังหวัด
องค์แรก ลอยมาตามแม่น้ำบางปะกงและได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ชื่อว่า หลวงพ่อโสธร
องค์ที่สอง ลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรีและได้ไปประดิษฐานที่วัดไร่ขิง เมืองนครชัยศรี(อำเภอสามพราน) จังหวัดนครปฐม ได้ชื่อว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิง
องค์ที่สาม ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาและได้ไปประดิษฐานที่วัดบางพลีใหญ่ใน อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ได้ชื่อว่า หลวงพ่อโต
องค์ที่สี่ ลอยมาตามแม่น้ำแม่กลองและได้ไปประดิษฐานที่วัดเพชรสมุทรวรวิหาร เมืองแม่กลอง ปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ชื่อว่า หลวงพ่อบ้านแหลม
องค์ที่ห้า ลอยมาตามแม่น้ำเพชรบุรีและได้ไปประดิษฐานที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี ได้ชื่อว่า หลวงพ่อเขาตะเครา

หลวงพ่อวัดบ้านแหลม

            หลวงพ่อบ้านแหลม มีตำนานอีกเรื่องหนึ่ง กล่าวว่า ชาวบ้านแหลมที่มาตั้งรกรากอยู่ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2307 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวประมง วันหนึ่งได้มีชาวประมงไปลากอวนหาปลาที่ปากแม่น้ำแม่กลอง และอวนได้ติดพระพุทธรูปขึ้นมาสององค์องค์หนึ่งเป็น พระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง จึงอาราธนาพระพุทธรูปยืนมาประดิษฐานที่ วัดศรีจำปา ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองแม่กลอง ส่วนพระพุทธรูปนั่งได้มอบให้ญาติพี่น้องนำไปประดิษฐานที่ วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี
วัดศรีจำปา นี้ต่อมาได้ชื่อว่าวัดบ้านแหลม ซึ่งต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชั้นวรวิหาร และได้รับพระราชทานนามว่า วัดเพชรสมุทรวรวิหาร บาตรแก้วสีน้ำเงินที่เห็นอยู่ปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าบรมเธอกรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ได้ถวายไว้เนื่องจากบาตรเดิมอาจจมหายอยู่ในน้ำก่อนที่ชาวประมงจะได้จากทะเลปากอ่าวแม่กลอง


การเดินทาง
1.โดยรถยนต์ส่วนบุคคล
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 ถนนพระราม 2 (ถนนธนบุรี-ปากท่อ เดิม) ไปถึงหลัก กม.ที่ 63 ชิดซ้าย ใช้ทางคู่ขนานต่างระดับ เข้าตัวเมืองสมุทรสงครามถึงสี่แยกแรกตรงไปเข้าตัวตลาดถึงสี่แยกที่สอง (แยกโรงพยาบาล สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า) เลี้ยวขวาและตรงไป ข้ามทางรถไฟ ขับไปอีกประมาณ 100 เมตร วัดอยู่ทางซ้ายมือ (บริเวณพื้นที่ตรงข้ามกับวัดเป็นที่จอดรถได้)

2.รถประจำทาง
นั่งรถโดยสารที่สถานนีขนส่งสายใต้ใหม่สายกรุงเทพ-แม่กลอง หรือรถปรับอากาศสาย กรุงเทพ-ดำเนิน (รถเข้าตัวเมืองสมุทรสงคราม) หรือนั่งรถตู้จากอนุสาวรีย์ชัย สายแม่กลอง ไปลงที่ตลาดแม่กลอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น