วัดบางพลีใหญ่ใน
วัดบางพลีใหญ่ในเป็นชื่อของวัดพระอารามหลวงชั้นโทที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานและมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เพราะเป็นวัดที่ใช้ประดิษฐานหลวงพ่อโตซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัยและเป็นหนึ่งในพระสามพี่น้อง วัดแห่งนี้เดิมมีชื่อว่า วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม
ประวัติวัดบางพลีใหญ่ใน (ประวัติโดยย่อ)
วัด บางพลีใหญ่ใน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัด สมุทรปราการ วัดนี้อยู่ริมคลองสำโรง ห่างจากประตูน้ำ สำโรง ประมาณ 13 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 40 กว่าไร่
ทางประวัติศาสตร์ พระนเรศวรทรงยาตรากองทัพ ขับไล่ข้าศึกมาทางทิศตะวันออก ของกรุงศรีอยุธยา มาถึงตำบลหนึ่งไม่ปรากฏนาม ทางทำพิธีพลีกรรมบวงสรวงตามตำรับพิชัยสงคราม เมื่อชนะสงครามแล้ว พระองค์ทรงกลับมาสร้างพลับพลานี้และเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดพลับลพาชัยชนะสงคราม ต่อมา เรียกชื่อตามตำบลที่ทำพิธีพลีกรรมบวงสรวงว่า ตำบลบางพลี จึงเรียกวัดพลับพลาชัยชนะสงครามว่า วัดบางพลี ต่อมามีพระองค์ใหญ่ คือหลวงพ่อโต มาประดิษฐานในอุโบสถ และมีวัดบางพลีใหญ่กลางอยู่ด้านนอก จึงเรียกวัดพลับพลาชัยชนะสงครามว่า วัดบางพลีใหญ่ใน หรือวัดหลวงพ่อโร มาจนตราบเท่าทุกวันนี้
หลวงพ่อโต (วัดบางพลีใหญ่ใน)
หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย(สะดุ้งมาร) องค์พระเป็นทองสำริดทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 3 ศอก 1 คืบ ลืมพระเนตร ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดบางพลีใหญ่ใน ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับการกล่าวขวัญว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เคารพสักการะของชาวบางพลีและพุทธศาสนิกชนทั่วไป
ประวัติ
ตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่าเมื่อประมาณ 200 กว่าปีก่อน มีพระพุทธรูป 3 องค์ ลอยลงมาจากทางเหนือตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ได้แสดงอภินิหารลอยล่องมาตามลำแม่น้ำและบางครั้งก็แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ผุดให้ผู้คนเห็นจนเป็นที่โจษจันกันทั่วถึงอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาพระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยวกเข้าไปทางปากแม่น้ำท่าจีนจนได้ไปขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดเพชรสมุทร จังหวัดสมุทรสงคราม ในเวลาไล่เลี่ยกันพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งก็ลอยวกเข้าไปทางปากแม่น้ำบางปะกง จนได้ไปขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรวราราม จังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนอีกองค์หนึ่ง(หลวงพ่อโต)ก็ได้ล่องลอยเรื่อยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจะลอยวกเข้ามาในลำคลองสำโรง ประชาชนที่พบเห็นต่างก็โจษจันกันไปทั่ว พร้อมกับได้ร่วมกันพยายามอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นที่ปากคลองสำโรง แต่ก็ไม่สามารถอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นได้สำเร็จ
ผู้มีปัญญาดีคนหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า คงเป็นเพราะบุญญาอภินิหารของท่าน เพราะแม้ว่าจะใช้ผู้คนจำนวนมากก็ยังไม่สามารถอาราธนาฉุดท่านขึ้นบนฝั่งได้สำเร็จ จึงควรจะเสี่ยงทายต่อแพผูกชะลอกับองค์ท่านแล้วใช้เรือพายฉุดท่านให้ลอยไปตามลำคลองสำโรง พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานว่าหากท่านประสงค์จะขึ้นที่ใดก็ขอให้แสดงอภินิหารให้แพที่ลอยมาหยุด ณ ที่นั้น
เมื่อประชาชนทั้งหลายเห็นพ้องกันดังนั้นแล้ว ก็พร้อมใจกันทำแพผูกชะลอกับองค์ท่านแล้วใช้เรือช่วยกันจ้ำพายจูงแพลอยเรื่อยมาตามลำคลอง ครั้นเมื่อแพลอยมาถึงบริเวณหน้าวัดพลับพลาชัยชนะสงครามหรือวัดบางพลีใหญ่ใน แพที่ผูกชะลอองค์ท่านมาก็เกิดหยุดนิ่ง แม้ว่าจะพยายามจ้ำและพายกันอย่างเต็มที่เต็มกำลังแพนั้นก็ไม่ยอมขยับเขยื้อน ประชาชนที่มากับเรือและชาวบางพลีจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาอัญเชิญองค์ท่านขึ้นจากน้ำ ซื่งก็เป็นที่น่าอัศจรรย์เมื่อใช้คนเพียงไม่มากนักก็สามารถอาราธนาท่านขึ้นจากน้ำได้โดยง่าย ทำให้ประชาชนต่างแซ่ซ้องในอภินิหารของท่านเป็นอย่างยิ่งและได้อาราธนาท่านขึ้นประดิษฐานอยู่ในวิหารนั้นเรื่อยมา และถวายนามหลวงพ่อโต
การที่ท่านได้รับการถวายนามว่า หลวงพ่อโต นั้นคงเป็นเพราะองค์ของท่านใหญ่โต คือ ใหญ่โตกว่าองค์ที่ลอยน้ำมาด้วยกันทั้ง 2 องค์ ประชาชนจึงพากันถวายนามว่า หลวงพ่อโต และเป็นที่เคารพสักการะของชาวบางพลีและใกล้เคียงในนาม หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน ตราบจนทุกวันนี้ทั้งนี้ การลำดับว่าพระพุทธรูปที่ลอยน้ำมาพร้อมกันตามตำนานที่สืบต่อกันมา ว่าองค์ไหนองค์พี่ องค์กลางและองค์น้องนั้นเข้าใจว่าคงจะนับเอาองค์ที่อาราธนาขึ้นจากน้ำได้ก่อนเป็นองค์พี่ ขึ้นจากน้ำองค์ที่ 2 เป็นองค์กลาง ขึ้นจากน้ำองค์ที่ 3 เป็นองค์น้องตามลำดับ คือ
หลวงพ่อวัดบ้านแหลม วัดเพชรสมุทร จังหวัดสมุทรสงคราม อาราธนาขึ้นจากน้ำองค์ที่ 1
หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวราราม จังหวัดฉะเชิงเทรา อาราธนาขึ้นจากน้ำองค์ที่ 2
หลวงพ่อโต วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม จังหวัดสมุทรปราการ อาราธนาขึ้นจากน้ำ เป็นองค์ที่ 3
อุโบสถหลังใหม่
หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน ได้ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลังเดิมเรื่อยมา จนเมื่อมีโครงการรื้อวิหารนั้นเพื่อสร้างเป็นพระอุโบสถที่ถาวร จึงต้องอาราธนาองค์ท่านมาพักไว้ยังศาลาชั่วคราว จนกระทั่งสร้างพระอุโบสถสำเร็จแล้ว จึงได้อาราธนาท่านกลับไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถเพื่อเป็นพระประธานของวัดบางพลีใหญ่ใน เล่ากันว่าเมื่อคราวสร้างพระอุโบสถเสร็จใหม่ๆ ได้วัดช่องประตูพระอุโบสถกับองค์หลวงพ่อโต ปรากฏว่าช่องประตูใหญ่กว่าองค์พระประมาณ 5 นิ้ว ซึ่งสามารถนำองค์หลวงพ่อโตผ่านเข้าไปได้ แต่พอถึงคราวอาราธนาจริงกลับปรากฏว่าองค์หลวงพ่อใหญ่กว่าประตูมาก คณะกรรมการจำนวนหนึ่งเห็นว่าควรทุบช่องประตูทิ้ง แต่อีกจำนวนหนึ่งเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโตจึงได้พร้อมใจกันอธิษฐาน ขอให้หลวงพ่อโตสามารถผ่านเข้าประตูได้เพื่อเป็นมิ่งขวัญคุ้มครองชาวบางพลีสืบไป ซึ่งเมื่ออธิษฐานเสร็จก็กลับอาราธนาหลวงพ่อโตผ่านประตูได้โดยสะดวกโดยที่ไม่ต้องทุบช่องประตูแต่อย่างใด แถมยังมีช่องว่างระหว่างองค์หลวงพ่อกับประตูพระอุโบสถเสียอีก
ความศักดิ์สิทธิ์
มีเรื่องเล่าเมื่อครั้งที่หลวงพ่อโตยังประดิษฐานอยู่ในพระวิหารเก่าว่า บางวันที่เป็นวันพระขึ้น 15 ค่ำ กลางคืนผู้คนจะได้ยินเสียงพึมพำอยู่ในวิหารคล้ายเสียงสวดมนต์ ครั้นเมื่อเข้าไปดูก็ไม่เห็นมีใครอยู่ในนั้นเลยนอกจากหลวงพ่อโต บางคราวพระภิกษุสามเณรในวัดจะเห็นพระภิกษุชราห่มจีวรสีคร่ำคร่า ถือไม้เท้าเดินออกมายืนสงบนิ่งอยู่หน้าวิหาร ผู้ที่พบเห็นต่างก็เรียกกันมาดู เมื่อทุกคนเห็นพร้อมกันดีแล้ว ภิกษุชรารูปนั้นก็เดินหายเข้าไปในวิหารตรงองค์ของหลวงพ่อ เป็นดังนี้หลายครั้งหลายหน บางครั้งจะมีผู้เห็นเป็นชายชรารูปร่างสง่างาม มีรัศมีเปล่งปลั่ง นุ่งขาวห่มขาวเข้ามาหาหลวงพ่อแล้วก็หายไปตรงพระพักตร์ของท่าน
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 หลวงพ่อได้กระทำให้เกิดปาฏิหาริย์ที่องค์ท่านซึ่งเป็นทองสัมฤทธิ์ เกิดนุ่มนิ่มไปหมดทั้งองค์ดังเนื้อมนุษย์ และต่อมาในปี พ.ศ. 2522 ก็เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้อีกครั้งหนึ่ง ชาวบางพลีต่างเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์และบารมีขององค์หลวงพ่อโต ได้คุ้มครองชุมชนบางพลีให้ปลอดภัยจากอัคคีภัย เพราะชุมชนอื่นที่อยู่โดยรอบ อาทิ ตลาดบางบ่อ ตลาดจระเข้ ตลาดคลองด่าน ล้วนแต่เคยประสบกับอัคคีภัยมาแล้วทั้งนั้น
แม้แต่กระทั่งรูปเหรียญหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน ชาวบ้านทั้งใกล้ไกลต่างพากันห้อยคอให้แก่บุตรหลานของตน เพราะกล่าวกันว่าเมื่อเด็กเผลอพลัดตกน้ำเด็กนั้นกลับลอยน้ำได้เป็นที่น่าอัศจรรย์ ตลอดจนทั้งพระเครื่องรางที่ทำเป็นรูปขององค์หลวงพ่อก็มีเรื่องเล่าอภินิหารป้องกันภยันตรายได้ต่างๆ นานา นอกจากนี้ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยทั้งหลายต่างก็พากันมาบนบานกราบนมัสการองค์หลวงพ่อโต กล่าวกันว่าบางท่านที่ได้นำน้ำมนต์หลวงพ่อไปดื่มกินเพื่อความเป็นสิริมงคล ก็กลับปรากฏว่าโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นนั้นก็กลับหายวันหายคืนเป็นที่น่าอัศจรรย์
งานนมัสการหลวงพ่อโต
ทางวัดได้จัดให้มีงานสมโภชปีละ 3 ครั้ง คือ
งานปิดทองฝ่าพระพุทธบาทและนมัสการหลวงพ่อโต ระหว่างวันขึ้น 15 ค่ำ ถึง วันแรม 2 ค่ำ เดือน 3
งานนมัสการและปิดทองหลวงพ่อโต ระหว่างวันขึ้น 15 ค่ำ ถึง วันแรม 2 ค่ำ เดือน 4
งานประเพณีรับบัวและนมัสการหลวงพ่อโต ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึง วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 มีการจัดขบวนเรือแห่แหนหลวงพ่อโต (จำลอง) ไปตามลำคลองสำโรง เพื่อรับดอกบัวที่ผู้คนถวายเป็นพุทธบูชา
นอกจากนี้ในวันวิสาขบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี จะมีงานทำบุญฉลองที่หลวงพ่อโตแสดงปาฏิหาริย์ให้องค์หลวงพ่อนิ่มเหมือนเนื้อของมนุษย์
จากวิกิพีเดียสารานุกรมเสรี
จากวิกิพีเดียสารานุกรมเสรี
วัดบางพลีใหญ่ใน ยังมีประเพณีรับบัวและโยนบัวซึ่งเป็นประเพณี 1 เดียวในโลก และตลาดน้ำโบราณบางพลี ซึ่งติดตามอ่านดูได้ในบทความต่อไปที่บล็อกนี้ นอกจากนี้ยังมีที่น่าภูมิใจของชาวจังหวัดสมุทรปราการ ที่รัฐบาลชุด พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้สร้างสนามบินสุวรรณภูมิไว้ให้คนจังหวัดสมุทรปราการ และเป็นสนามบินติดอันดับต้นๆ ของโลก
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นสนามบินตั้งอยู่ที่ถนนบางนา - บางปะกง ในตำบลราชาเทวะ กิ่งอำเภอราชเทว ะ (ปัจจุบัน) จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ห่างจากใจกลางเมืองกรุงเทพประมาณ 25 กิโลเมตร เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 รัฐบาล ได้กำหนดให้ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศไทยแทนท่าอากาศยานดอนเมือง และตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางการบินในทวีปเอเชีย อีกทั้งการเน้นพัฒนาคุณภาพการให้บริการของท่าอากาศยานให้ได้รับการจัดอันดับ 1 ใน 10 ท่าอากาศยานที่มีคุณภาพการบริการดีที่สุดในโลกในปี พ.ศ. 2553
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิออกแบบโดย Helmut Jahn มีหอควบคุมที่สูงที่สุดในโลก (132.2 ม. ) และอาคารผู้โดยสารเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก (563,000 ม.²) ปัจจุบันเป็นหนึ่งในท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก (สามารถรองรับเที่ยวบิน 76 เที่ยวต่อชั่วโมง และผู้โดยสาร 45 ล้านคนต่อปี และศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศ (สามารถรองรับสินค้าได้ 3 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ ยังมีทางหลวงพิเศษที่ทันสมัย ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยาน กรุงเทพมหานคร และนิคมอุตสาหกรรมอิสเทิร์น ซีบอร์ดสายการบินหลายแห่ง ได้แก่ การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์และไทยแอร์เอเชีย ได้เลือกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางการบิน
ชื่อสนามบิน
ชื่อของสนามบินสุวรรณภูมิ มีความหมายว่า "แผ่นดินทอง" เป็นชื่อพระราชทานโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2543 (ชื่อดังกล่าวถูกนำมาใช้แทนชื่อเดิม คือ "หนองงูเห่า") และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2545 ชื่อสากลของสนามบินสะกดตามการถ่าย ตัวสะกดภาษาอังกฤษ ว่า "Suvarnabhumi" แทนการเขียนทับศัพท์ตามระบบราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งสะกดว่า "Suwannaphum"
การจัดแสดงงานศิลปะและวัฒนธรรมไทย
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้มีการติดตั้งผลงานศิลปะไทย ทั้งภายในและภายนอกอาคารของสนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่ารวมกันทั้งสิ้นกว่า 100 ล้านบาท เพื่อเป็นการสร้างความประทับใจในบรรยากาศประเทศไทย ด้วยการสะท้อนความงามของศิลปะและวัฒนธรรมไทย เช่น ประติกรรมจำลองยักษ์จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จำนวน 12 ตน ซึ่งเป็นตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์ มูลค่า 48 ล้านบาท ภาพจิตรกรรมฝาผนังจำลองของศิลปินที่มีชื่อเสียงของไทย เป็นต้น
งานภูมิทัศน์
งานออกแบบภูมิทัศน์โดยรอบสนามบินและภายในส่วนเปิดโล่งของอาคารผู้โดยสารมีลักษณะของความเป็นไทย เดิมออกแบบโดย ปีเตอร์ วอล์กเกอร์ ภูมิสถาปนิกชาวอเมริกัน วอล์กเกอร์ระบุว่า ภูมิทัศน์ถนนภายในสนามบินสุวรรณภูมินั้น ประกอบด้วยงานภูมิทัศน์ขนาดใหญ่ที่สามารถสัมผัสได้แม้จากในรถที่กำลังแล่น
ส่วนภูมิทัศน์ภายในท่าอากาศยาน ได้ออกแบบให้เป็นงานภูมิทัศน์ภายในสนามบินขนาดใหญ่แบบ Monumental garden 2 สวน ขนาดพื้นที่ถึงแปลงละ 135×108 ม. ตามแบบเดิมนั้นมีแนวความคิดหลักสองแนวคิด คือ สวน "เมือง" และ สวน "ชนบท" โดยการออกแบบได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดภูมิจักรวาลและอารยธรรมชาวน้ำ
ในเวลาต่อมา เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณและสามารถรองรับการขยายตัวในอนาคต ใน พ.ศ. 2545 ได้มีการเปลี่ยนแปลงแบบใหม่ โดยกลุ่มภูมิสถาปนิกและทีมที่ปรึกษาชาวไทย คือ RPU Design Group ภายใต้การนำของสำนักงานออกแบบระฟ้า ภูมิสถาปนิกที่ร่วมกำหนดแนวทางการออกแบบภูมิทัศน์ เมื่อ พ.ศ. 2537 ทั้งนี้ยังคงแนวคิดหลักของสวนเมืองและชนบทอยู่ แต่ได้ปรับแนวความคิดในขั้นรายละเอียดและเนื้อหาใหม่
"สวนเมือง" มีลักษณะเป็นสวนน้ำพุ ประดับด้วยกระเบื้อง ประติมากรรมรูปทรงเจดีย์และน้ำพุ ได้อาศัยคติความเชื่อของไทยตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น ความเชื่อเรื่องระบบภูมิจักรวาลอันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง เรื่องการเลือกทำเลในการตั้งเมืองใกล้น้ำ อารยชนชาวน้ำ การใช้เส้นสายที่ปรากฏในจิตรกรรมไทย นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมอื่น ๆ
สถิติโลก
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ รับการกล่าวถึงว่าเป็น "ความภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ" และยังเป็นสิ่งก่อสร้าง ที่ทำลายสถิติโลกในหลายประการได้แก่
- มีบังคับการบินที่สูงที่สุดในโลก ด้วยความสูง 132.2 เมตร
- ล็อบบี้ของโรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งอยู่ด้านหน้าอาคารผู้โดยสาร มีห้องพักถึง 600 กว่าห้อง เป็นบริเวณล็อบบี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่ถึง 17 ไร่
- อาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเคยเป็นอาคารผู้โดยสารเดี่ยวที่ถูกบันทึกว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ในการก่อสร้างครั้งเดียว โดยมีพื้นที่ใช้สอยราว 563,000 ม.² แต่ในปัจจุบัน สถิติดังกล่าวตกเป็นของอาคารผู้โดยสารที่ 3 ของท่าอากาศยานนานาชาติดูไบ ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยราว 1,500,000 ม.²
การคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับท่าอากาศยาน
รถยนต์
ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี |
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีเส้นทางเข้าออกสำหรับรถยนต์อยู่ 5 เส้นทาง ซึ่งรถแท็กซี่ รถโดยสารขนส่งมวลชนกรุงเทพ และรถโดยสารแอร์พอร์ตเอกซ์เพรส ใช้เพื่อการคมนาคมด้วย โดยทางเข้าหลักคือ เส้นทางจากทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (ถนนกรุงเทพมหานคร-ชลบุรี) อีกเส้นทางหนึ่งสามารถเข้าได้จากทางด่วนบางนา-บางปะกง
รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ทางเข้าออกท่าอากาศยานเส้นทางสุดท้าย เป็นเส้นทางสำหรับรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 28.6 กิโลเมตร โดยใช้รถไฟฟ้าความเร็วสูงแบบทางคู่ ยกระดับขนานไปตามแนวเส้นทางรถไฟทางไกลสายตะวันออก มีสถานีรายทางจำนวน 8 สถานี ได้แก่สถานีพญาไท, สถานีราชปรารภ, สถานีมักกะสัน (อโศก), สถานีรามคำแหง, สถานีหัวหมาก, สถานีบ้านทับช้าง, สถานีลาดกระบัง และจะตีโค้งแล้วลดระดับลงไปยังอุโมงค์ใต้ดิน เพื่อเข้าสู่สถานีสุวรรณภูมิ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชั้นใต้ดินของอาคารผู้โดยสาร
ในสมัยก่อนสนามบินจะอยู่ที่ดอนเมือง พอย้ายมาอยู่ที่สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ ทำให้ผมได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ ทั้งไปศึกษาดูงาน และท่องเที่ยวมาหลายประเทศ รอบๆบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิปัจจุบันเจริญรุ่งเรืองรวดเร็วมาก มีโรงแรม ภัตตาคารหรูไว้บริการชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น